ลงทุนกับ myinvestmentarea

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

บทที่ ๒ - ๘ พุทธจริยาอันเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต

  • พระพุทธเจ้าทรงสมบูรณ์ด้วยความรู้แจ้งจริง ทรงมีความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย วาจา และใจ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิตโดยประการทั้งปวง ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ คือทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองแล้วสั่งสอนให้คนอื่นรู้ตาม ทรงมีความกรุณาอันยิ่งใหญ่ เสียสละความสุขส่วนพระองค์เสด็จออกไปสั่งสอนแนวทางพ้นทุกข์แก่ชาวโลก โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก สิ่งที่ทรงบำเพ็ญตลอดระยะเวลา ๔๕ ปีหลังตรัสรู้ เรียกกันว่า "พุทธจริยา"
  • พุทธจริยา แปลตามศัพท์ว่า พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า หรือพูดอย่างภาษาสามัญก็คือ ความประพฤติที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมี ๓ ประการคือ
  1. โลกัตถจริยา พุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก
  2. ญาตัตถจริยา พุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์แก่พระประยูรญาติทั้งหลาย
  3. พุทธัตถจริยา พุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะที่เป็นพระพุทธเจ้า

๑. โลกัตถจริยา : การบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก การที่พระพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์แก่ชาวโลกนั้น แสดงออกในพุทธกิจประจำวันนั่นเอง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า วันเวลาที่ผ่านไปแต่ละวันนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแทบทั้งสิ้น พระองค์แทบไม่มีเวลาพักผ่อนเลย แม้กระทั่งจะประชวรหนักอย่างไรก็ทรงอุตส่าห์ข่มทุกขเวทนา พยายามสั่งสอนผู้อื่น ดังเช่นทรงโปรดสุภัททปริพาชก เมื่อครั้งพระองค์จวนจะปรินิพพาน เป็นต้น พุทธกิจประจำวันแบ่งเป็น ๕ ประการ คือ

  • ช่วงเช้า (ตอนเช้ามืด) เสด็จออกบิณฑบาต การเสด็จบิณฑบาตนี้นอกจากจะเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญตักบาตรแล้ว พระพุทธเจ้ายังถือเป็นโอกาสดีที่จะได้แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ (หมายถึงบุคคลที่สามารถแนะนำสั่งสอนให้เข้าถึงธรรมได้) ตามสมควรแก่กรณี เพราะฉะนั้นเราจึงมักเรียกการบิณฑบาตรของพระภิกษะโดยทั่วไปว่า "ไปโปรดสัตว์"
  • ช่วงกลางวัน (หลังเสวยพระกระยาหารเช้า) ทรงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี แสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้น
  • ช่วงกลางคืนยามที่ ๑ (เวลาประมาณพบค่ำ - ๓ ทุ่ม) ทรงใช้เวลาตลอดยามนี้ ตอบปัญหาชี้แนะการปฏิบัติกรรมฐาน แสดงธรรม หรือให้คำปรึกษาหารือแก่พระภิกษุสงฆ์
  • ช่วงกลางคืนยามที่ ๒ (เวลาประมาณ ๓ ทุ่ม - เที่ยงคืน) ทรงใช้่เวลาตลอดยามนี้ตอบปัญหาธรรมะและแสดงธรรมแก่เทวดาทั้งหลายที่เสด็จเข้ามาเฝ้า
  • ช่วงกลางคืนยามที่ ๓ (เวลาประมาณเที่ยงคืน - ตี ๓) ในช่วงแรกจะเสด็จดำเนินจงกรมเืพื่อให้พระวรกายผ่อนคลาย ช่วงที่ ๒ เสด็จเข้าบรรทม ช่วงที่ ๓ ตื่นจากบรรทม ประทับนั่งแล้วพิจารณาการสอดส่องเลือกสรรบุคคลที่พระองค์ควรจะเสด็จไปโปรดในช่วงเช้า

๒. ญาตัตถจริยา : การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระประยูรญาติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า การสงเคราะห์ญาติเป็นมงคลยิ่งอย่างหนึ่งในจำนวนมงคล ๓๘ ประการ พระพุทธเจ้าเองมิได้ทรงละเลยหน้าที่นี้ การสงเคราะห์พระญาติของพระองค์พอประมวลได้ ดังนี้

  • เมื่อตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงรอเวลาอันสมควรจึงได้เสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาจนสำเร็จเป็นพระโสดาบัน หลังจากนั้นมา แม้ว่าพระองค์จะไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก แต่พระองค์ก็ยังเสด็จไปเยี่ยมพระพุทธบิดาเป็นครั้งคราว เมื่อพระพุทธบิดาสิ้นพระชนม์ก็ได้เสด็จมาถวายพระเพลิงพระบรมศพในฐานะ "ลูก" ที่ดี แสดงแบบอย่างแห่งความกตัญญูกตเวทิตาธรรมให้ปรากฏ
  • กล่าวกันว่า พระองค์เสด็จไปแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงห์ เป็นการทดแทนบุญคุณพระมารดาบังเกิดเกล้าสถานหนึ่งด้วย จากเรื่องนี้ทำให้เกิดประเพณีเทศน์อภิธรรมโปรดมารดาหรือแต่งหนังสืออภิธรรมโปรดมารดาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ เช่น พญาลิไท กษัตริย์ สุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ "ไตรภูมิพระร่วง" ทรงบอกจุดประสงค์ไว้ประการหนึ่งว่าเพื่อโปรดพระมารดา
  • ทรงชักนำขัตติยกุมารจากศากยตระกูลหลายองค์ออกบวช เช่น พระอานนท์ พระอนุรุทธะ เป็นต้น นอกจากช่วยอนุเคราะห์ให้ท่านเหล่านั้นได้มาพบทางพ้นทุกข์เป็นการส่วนตัวแล้ว ท่านเหล่านั้นยังได้เป็นกำลังสำคัญในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลกด้วย เท่ากับได้ผลสองต่อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเผื่อแผ่ประโยชน์ด้านนี้แก่พระญาติที่เป็นสตรีด้วย ดังได้ทรงอนุญาตให้พระนางปชาบดีโคตมี ซึ่งมีฐานะเป็นพระมาตุจฉา(น้า) ของพระองค์ บวชเป็นภิกษุณี เป็นต้น
  • บางครั้งเกียรติยศของศากยตระกูล ถูกคนเข้าใจผิดกล่าวร้ายให้โทษ พระองค์ก็ทรงช่วยชี้แจงให้เข้าใจพระญาติของพระองค์ในทางที่ถูก
  • เมื่อพระญาติทั้งสองฝ่าย คือศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ กำลังจะทำสงครามแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีมาทำการเกษตร พระองค์ก็เสด็จไปห้ามทัพ ชี้แจงให้เห็นถึงความพินาศอันจะตามมาเพราะการทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องเล็กน้อยนี้ จนทั้งสองฝ่ายหันมาปรองดองคืนดีกันในที่สุด การห้ามสงครามระหว่างเครือญาติของพระองค์ครั้งนี้ นับเป็นการทำประโยชน์แก่พระญาติครั้งสำคัญยิ่ง จึงมีพระพุทธรูปปางหนึ่งสร้างเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเรียกว่า พระพุทธรูปปางห้ามญาติ (พระพุทธรูปยืนยกพระหัตถ์ขวาในท่าห้ามปราม) ฉ.ก่อนเสด็จปรินิพพานเล็กน้อย พระเจ้าวิฑูฑภะกษัตริย์แห่งแคว้นโกศล ยกทัพไปหมายทำลายล้างพวกศากยะให้สิ้น เพื่อชำระความแค้นแต่หนหลังที่ถูกพวกศากยะดูหมิ่นสมัยยังทรงพระเยาว์พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าจะเกิดความพินาศย่อยยับแก่ศากยวงศ์ สุดจะทนนิ่งดูดาย จึงเสด็จไปป้องกันไว้ถึง ๓ ครั้ง แต่ครั้งที่ ๔ เป็นคราวเคราะห์กรรมของพวกศากยะ ไม่สามารถทัดทานได้ พระเจ้าวิฑูฑภะ ได้ทำลายล้างเมืองกบิลพัสดุ์เกือบหมดสิ้น สรุปความว่าพระพุทธเจ้าถึงแม้จะอยู่ในฐานะเป็น "คนของโลก" แล้วก็ตาม พระองค์ยังไม่ลืมสายสัมพันธ์แห่งเครือญาติ ทรงอนุเคราะห์ช่วงเหลือพระญาติทั้งหลาย ทั้งส่วนปัจเจกบุคคลและส่วนรวม ตามความเหมาะสมและตามควรแก่กรณี

๓. พุทธัตถจริยา : การบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะพระพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้แล้่ว พระพุทธเจ้าทรงอุทิศพระองค์เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยชี้แนะหนทางที่จะทำให้สัตว์โลกทั้งหลายหลุดพ้นจากสังสารวัฎ หรือหาทางป้องกันมิให้สัตว์โลกทั้งปวงก้าวเข้าไปสู่ความเสื่อม ความจริงการประโยชน์แก่ชาวโลกก็นับรวมอยู่ในข้อโลกัตถจริยานั่นเอง แต่การแยกนำมาพูดก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงพุทธจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าให้เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

ภารกิจที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธเจ้ามีอยู่มากมาย เช่น

๓.๑ ช่วยสัตว์โลกให้หลุดพ้นห้วงความทุกข์คือ ให้หลุดพ้นจากสังสารวัฎหรือ การเวียนว่ายตายเกิดตามพระประณิธานที่ทรงตั้งไว้ตลอดเวลาอันยาวนาน ที่ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณ เมื่อทรงข้ามพ้นทุกข์ด้วยพระองค์แล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาช่วยสัตว์อื่นให้หลุดพ้นทุกข์ด้วย โดยการชี้แนะคนที่ชี้แนะได้ฝึกฝนอบรมคนที่ฝึกอบรมได้

๓.๒ ช่วยวางรากฐานการสร้างความดี หรือสร้างอุปนิสัยที่ดีในภายหน้า ในกรณีคนที่แนะหรือฝึกไม่ได้ หยาบช้าหนาแน่นด้วยกิเลสตัณหาเกินกว่าจะเข้าถึงธรรมได้ในปัจจุบัน พระองค์ก็ไม่ทรงทอดทิ้ง ดังกรณีพระเทวทัต ทรงทราบด้วยพระญาณก่อนแล้วว่า พระเทวทัตจะมุ่งทำลายพระองค์และกระทำสังฆเภท (สร้างความแตกแยกในหมู่สงฆ์) แต่พระองค์ก็ทรงบวชให้ ด้วยทรงเห็นว่าการบวชประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาย่อมจักมีความดีงามพอที่จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่พระเทวทัตได้บ้างในภายภาคหน้า

๓.๓ ช่วยสัตว์โลกมิให้ก้าวเข้าสู่ความเสื่อม พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าอีกประการหนึ่ง ก็คือนอกเหนือจากชี้ทางสวรรค์นิพพานให้แก่คนที่พร้อมที่จะดำเนินสู่ทางนั้นแล้ว ยังช่วยปิดอบายหรือปิดกั้นมิให้คนบางประเภทถลำลึกลงสู่ทางเสื่อมฉิบหายมากขึ้น เช่น เสด็จไปโปรดโจรองคุลิมาลก่อนที่จะพบมารดาระหว่างทางและก่อนที่จะกระทำมาตุฆาต (ฆ่ามารดาอันเป็นกรรมหนัก)

๓.๔ ทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อความดำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนา เมื่อเริ่มประกาศพระพุทธศาสนาในระยะแรก ๆ ยังไม่มีพระวินัยหรือศีลสำหรับให้พระภิกษุได้รักษามากมายดังในเวลาต่อมา ผู้เข้ามาบวชส่วนมากเป็นผู้ที่เบื่อหน่ายในโลกียวิสัยแล้ว พร้อมที่จะปฏิบัติตนเพื่อบรรลุธรรมชั้นสูงสุด วินัยหรือศีลสำหรับควบคุมความประพฤติจึงยังมีไม่มาก มีเพียงหลักการกว้าง ๆ ว่า พระภิกษุไม่พึงกระทำกิจ ๔ ประการคือ เสพเมถุน (เสพกาม),ลักทรัพย์,ฆ่ามนุษย์ และอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ต่อมาเมื่อมีผู้ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่การดำรงเพศสมณะขึ้น มีผู้ตำหนิติเตียน พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัยห้ามมิให้มีการกระทำที่ไม่สมควรเช่นนั้นอีกต่อไป และได้บัญญัติเพิ่มเติมแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ที่เรียกว่า “ศีล” มีทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ (ไม่นับรวมข้อบัญญัติเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกมาก) พระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นนี้เป็นเครื่องควบคุมให้สถาบันสงฆ์มีความสงบเงียบร้อยเป็นที่เลื่อมใสของประชาชนทั่วไป และเป็นเครื่องจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ดำรงมั่นคงยืนนาน ๓.๕ ทรงสถาปนาสถาบันสืบทอดพระพุทธศาสนา เมื่อมีผู้เข้ามาบวชมากขึ้น ทั้งบุรุษและสตรี พระองค์ได้ทรงตั้งสถาบันพุทธบริษัทขึ้น เรียกว่า “บริษัทสี่” คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พร้อมทั้งทรงวางหน้าที่ที่แต่ละบริษัทจะพึงปฏิบัติ และหน้าที่ที่พุทธบริษัทจะพึงร่วมกันทำเพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งพระพุทธศาสนาดังนี้

๑) หน้าที่ของแต่ละบริษัท

ก. ภิกษุ ภิกษุณี มีหน้าที่ดังนี้

  • ห้ามปรามมิให้เขาทำความชั่ว
  • แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี
  • อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
  • สั่งสอนสิ่งที่เขายังไม่เคยได้ยินได้ฟัง
  • ชี้แจงอธิบายสิ่งที่เขาเคยได้ยินได้ฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
  • สอนวิธีดำเนินชีวิตที่ดีงามให้

ข. อุบาสก อุบาสิกา มีหน้าที่ดังนี้

  • ทำ พูด คิด ต่อพระสงฆ์ด้วยเมตตา
  • ต้อนรับพระสงฆ์ด้วยความเต็มใจ
  • อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่

๒) หน้าที่ของบริษัททั้ง ๔

หน้าที่ของบริษัททั้ง ๔ จะพึงทำร่วมกันมีดังนี้

  • ศึกษาคำสอนทางพระพุทธศาสนาให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
  • ปฏิบัติตามท่ได้ศึกาเล่าเรียนมาตามความสามารถจนได้รับผลจากการปฏิบัติ
  • เผยแพร่คำสอนให้ผู้อื่นได้รู้ตาม
  • ปกป้องพระพุทธศาสนาจากภัยทั้งภายในและภายนอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น