ลงทุนกับ myinvestmentarea

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

บทที่ ๒ - ๗ พุทธโอวาท ๓

พุทธโอวาท ๓
  • โอวาท แปลว่า คำแนะนำ คำตักเตือน คำสอน ในที่นี้ หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๓ ข้อ ซึ่งถือว่า เป็นแก่นสำคัญหรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา โอวาท ๓ นี้ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงแก่พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ในวันมาฆบูชา ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้บริสุทธิ์
๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง คนเราทำความชั่วได้ ๓ ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดทั้งทางด้านกฎหมาย ศีลธรรมและขนบประเพณี ขึ้นอยู่กับว่าจะประพฤติชั่วแบบใด เพราะการทำความชั่วบางอย่างแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีลธรรมหรือขนบประเพณีได้ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง แยกออกได้ดังนี้
๑) การไม่ทำความชั่วทางกาย ได้แก่
ก. ไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่น ไม่นำสัตว์มาทรมานมากักขัง
ข. ไม่ลักขโมย ไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้ือื่น
ค. ไม่ประพฤติผิดในกาม รวมตลอดไปถึงการไม่ทำลายวัตถุสิ่งของอันเป็นที่รักของผู้อื่น
๒) การไม่ทำความชั่วทางวาจา ได้แก่
ก.ไม่พูดเท็จ ไม่พูดหลอกลวง
ข.ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดยั่วยุให้คนแตกความสามัคคีกัน
ค.ไม่พูดคำหยาบ
ง. ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล อันหาสาระประโยชน์มิได้
๓) การไม่ทำความชั่วทางใจ ได้แก่
ก.ไม่คิดโลภอยากได้ของผู้อื่นโดยมิชอบ
ข.ไม่คิดพยาบาท ปองร้าย หรือคิดแก้แค้น
ค. ไม่เห็นผิดเป็นชอบ ไม่หลงงมงายกับความคิดที่ผิดเช่น ไม่คิดว่าการที่เราทำทุจริต แล้วเขาจับไม่ได้ เป็นเพราะเรามีความสามารถหรือเป็นคนเก่ง เป็นต้น
๒. การทำความดีให้ถึงพร้อม
การไม่ทำความชั่วดังที่กล่าวมา ถือได้ว่าเป็นการทำความดีถึงระดับหนึ่งแล้ว แต่จะให้ดีจริงต้องไม่เพียงแต่ละเว้นความชั่ว หากแต่ต้องประกอบคุณงามความดีด้วย การทำความดีก็ทำได้ ๓ ทางคือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เช่น
๑) การทำความดีทางกาย ได้แก่
ก.มีเมตตากรุณาช่วยเหลือผู้อื่น คือปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ไม่อยากให้เขาได้รับความเดือดร้อนทั้งทางกายและทางใจ
ข.เคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตน
ค.มีความสำรวมในกาม ไม่ล่วงละเมิดประเพณีทางเพศ
๒) การทำความดีทางวาจา ได้แก่
ก.พูดแต่ความจริง มีสัจจะ ไม่พูดเท็จหรือพูดให้ผิดจากความเป็นจริง
ข.พูดแต่คำที่ช่วยส่งเสริมความสามัคคี ช่วยให้คนที่แตกร้าวคืนดีกันไม่พูดยุยงให้คนขัดใจกัน
ค.พูดแต่คำสุภาพอ่อนหวาน ไม่พูดคำหยาบ
ง.พูดแต่คำที่มีสาระประโยชน์ พูดให้ถูกกาลเทศะ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
๓) การทำความดีทางใจ ได้แก่
ก.พอใจแต่ของที่ได้มาโดยชอบ ไม่คิดโลภในทางทุจริต
ข.แผ่เมตตาให้สัตว์โลกทั้งหลายมีความสุข ไม่มีจิตคิดร้ายต่อใคร ๆ
ค.มีความเห็นชอบ คือเชื่อกฏแห่งกรรม เชื่อว่าทำดีไดดี ทำชั่วได้ชั่ว
๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์
  • มนุษย์เรามีทั้งร่างกายและจิตใจ ความสะอาดของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความสะอาดของจิตใจก็สำคัญเหมือนกัน เพราะในแง่ของความประพฤติ จิตใจเป็นใหญ่กว่าร่างกาย เพราะเมื่อใจคิดก่อนแล้วจึงสั่งให้ร่างกายทำตาม ปกติคนเรานั้นมีจิตใจเป็นใหญ่กว่าร่างกาย ความบริสุทธิ์ของจิตใจจึงมีความสำคัญมากกว่า คนที่สะอาดทั้งกายและใจนั้นย่อมเป็นคนดีน่าคบบค้าสมาคม แต่ถ้าคนๆหนึ่งร่างกายค่อนข้างสกปรกแต่ใจบริสุทธิ์ กับอีกคนหนึ่งร่างกายสะอาดหมดจดแต่จิตใจสกปรก เราก็คงอยากคบหาคนแรกมากกว่า
  • ฉะนั้นเมื่อเราละเว้นไม่ทำความชั่วทั้งทางกาย วาจา ใจ และพยายามทำความดีให้ถึงพร้อมแล้วเราก็ควรทำใจให้บริสุทธิ์ด้วย โดยการหมั่นฝึกฝนตนเองให้มีกุศลมูลหรือรากเหง้าแห่งความดีขึ้นในจิตใจอีก ๓ ประการ ได้แก่
๑) อโลภะ ความไม่โลภ คือหมั่นฝึกอบรมจิตใจตนเองให้สามารถระงับตัณหาหรือความอยากได้ โดยไม่ปล่อยให้ตัณหาเกิดขึ้น คนที่ไม่อยากได้สิ่งของของผู้อื่น ย่อมจะไม่ทำความชั่วโดยการลักขโมย ฉ้อโกง เป็นต้น
๒) อโทสะ ความไม่โกรธ ไม่ประทุษร้าย คือพยายามฝึกจิตใจของตนให้เป็นคนมีเมตตา ปรารถนาที่จะเห็นผู้อื่นอยู่อย่างเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกัน ผู้ที่มีจิตปราศจากโทสะย่อมจะไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ด่าว่าด้วยคำหยาบ และไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ตรงกันข้ามกลับจะเป็นคนดีคอยช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้อื่นได้รับแต่ความสุข
๓) อโมหะ ความไม่หลง คือต้องฝึกอบรมจิตใจของตนให้รู้จักเหนุ รูจักผล รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ผู้ที่ปราศจากความหลงย่อมมีชีวิตอยู่อย่างผาสุก มีความเจริญก้าหน้า ไม่มัวเมาอยู่กับอบายมุขและไม่เกลือกกลั้วอยู่กับสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น