ลงทุนกับ myinvestmentarea

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

p14-16 หลักการรักษาศีล,เบญจศีลสิกขาบทที่ ๑

หลักการรักษาศีล
เรื่องการศึกษาศีลแต่ละสิกขาบทนี้ เราต้องหาความรู้ และความเข้าใจใน ๔ จุดโดยรวม คือ
๑. ความมุ่งหมาย
๒. ข้อห้าม
๓. หลักวินิจฉัยโทษ
๔. เหตุผลอื่น
เบญจศีลสิกขาบทที่ ๑
ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๑. ความมุ่งหมาย ท่านบัญญัติศีลข้อนี้ไว้ โดยมุ่งให้มนุษย์อบรมจิตของตนให้คลายความเหี้ยมโหด มีเมตตากรุณาต่อกันและกัน เผื่อแผ่แก่สัตว์ทั้งปวงด้วย
๒. ข้อห้าม ในสิกขาบทนี้ ห้ามการฆ่าโดยตรง แต่ผู้รักษาศีล พึงเว้นจากการกระทำอันเป็นบริวารของการฆ่าด้วย คือ
๒.๑ การฆ่า (ทำให้ศีลขาด)
- กิริยาที่ฆ่า หมายถึง การทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป คำว่า สัตว์ หมายเอามนุษย์และเดียรัจฉานทุกชนิด ชั้นที่สุดแม้สัตว์ในครรภ์
- บาปกรรม การฆ่าสัตว์ทุกชนิดทำให้ศีลขาดทั้งนั้น แต่ทางบาปกรรมย่อม ลดหลั่นกัน
- หลักวินิจฉัย ท่านวางหลักวินิจฉัยบาปกรรมไว้ ๓ อย่าง คือ
๑. วัตถุ หมายถึง สัตว์ที่ถูกฆ่า ในทางวัตถุนี้ ฆ่าคนบาปมากกว่าสัตว์เดรัจฉาน แม้ในการฆ่าคนนั้นยังมีลดหลั่น นับตั้งแต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าคนมีคุณ ฆ่าคนทั่วไป ฆ่าคน ที่เป็นภัยแก่คนอื่น บาปกรรมก็ลดหลั่นกันไปตามลำดับ แม้ฆ่าสัตว์เดรัจฉาน ก็พิจารณาตามเกณฑ์อย่างเดียวกันนี้ คือ ฆ่าสัตว์มีคุณ บาปมากกว่าสัตว์ทั่วไป
๒. เจตนา หมายถึง เจตนาของผู้ฆ่า ในทางเจตนานี้ การฆ่าด้วยความอำมหิต เช่นรับจ้างฆ่าคน หรือฆ่าด้วยความอาฆาตพยาบาทอันร้ายกาจ ฆ่าด้วยอำนาจโมหะ เช่น ยิงสัตว์เล่นเพราะเห็นแก่สนุก เหล่านี้ บาปจะมีมากน้อยลดหลั่นกัน ส่วนการฆ่าด้วยจิตที่มีเมตตาผสมอยู่ เช่น แพทย์ทดลองวิชาเพื่อหาวิธีรักษาคนอื่นสัตว์อื่น หรือฆ่าเพื่อป้องกันตัว และทำให้เขาตายโดยพลาดพลั้ง บาปกรรมก็เบาบางลงตามลำดับ
๓. ประโยค หมายถึง วิธีการฆ่า ในทางประโยค คือวิธีฆ่านี้ ถ้าฆ่าโดยวิธีทรมานให้ลำบากมาก หวาดเสียวมาก ช้ำใจมาก ก็บาปมาก
การฆ่านี้ ทางศาสนาห้ามรวมถึงการฆ่าตัวเองด้วย ถือว่าเป็นการกระทำอันน่าตำหนิ และจิตใจของผู้ฆ่าตัวเองก็ไม่พ้นความมัวหมอง
๒.๒ การทำร้ายร่างกาย (ทำให้ศีลด่างพร้อย)
การทำร้ายร่างกาย หมายถึงการทำให้ร่างกายเขาเสียรูป เสียงาม เจ็บป่วยหรือพิการ(แต่ไม่ถึงตาย) จะด้วยการยิง ฟัน ทุบ ตีก็ตาม ซึ่งกระทำโดยเจตนาร้ายต่อผู้นั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ
๒.๓ การทรกรรม (ทำให้ศีลด่างพร้อย)
การทรกรรม คือการทำให้สัตว์ได้รับความลำบาก โดยขาดเมตตาปรานี มีลักษณะดังนี้
๑. ใช้งานเกินกำลัง ไม่ให้ได้รับการพักผ่อนและการเลี้ยงดูตามควร
๒. กักขังในที่อันไม่อาจเปลี่ยนอิริยาบถได้ และเป็นอันตราย
๓. นำสัตว์ไปโดยวิธีอันทรมานยิ่งนัก
๔. ผจญสัตว์ เช่น ยั่วสัตว์ให้ทำลายกัน เพราะเห็นแก่ความสนุกของตน
๓. หลักวินิจฉัย ( หรือองค์ของศีล ) การฆ่าถึงขั้นศีลขาด ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๓.๑ สัตว์นั้นมีชีวิต
๓.๒ ผู้ฆ่ารู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓.๓ ผู้ฆ่าคิดจะฆ่า
๓.๔ พยายามฆ่า
๓.๕ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น


๔. เหตุผลอื่น (เหตุผลของผู้รักษาศีลข้อ ๑)
ชีวิตเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่มนุษย์และสัตว์มีอยู่ และสิ่งที่มนุษย์และสัตว์ทุกรูป ทุกนามหวงแหนที่สุดก็คือชีวิตของตน ดังนั้น การกระทำผิดต่อสัตว์ ไม่มีสิ่งใดร้ายแรงยิ่งกว่าการทำลายชีวิตของเขาเพียงแต่เรางดฆ่าสัตว์เสียอย่างเดียว ก็ชื่อว่าเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต สัตว์ทั้งโลกและให้ความปลอดภัยแก่บรรดาบุตรหลานและบริวารของสัตว์นั้นด้วย
การประพฤติตนเป็นคนโหดร้าย ละเมิดศีลข้อนี้ ชื่อว่าเป็นการทำลายมนุษยธรรมในตัวเราเอง ทั้งเป็นการทำลายสังคมและประเทศชาติของเราด้วย

p11-14 ศีลวัตร

ศีลวัตร
บางทีอาจจะสงสัยกันว่า ที่ว่า การรักษาศีล เป็นการรักษาปรกติ อยู่ในปรกติเดิม แต่เหตุไฉนศีล ๘ ศีล ๑๐ จึงห้ามในสิ่งที่เป็นปรกติอยู่แล้ว เช่น ห้ามเสพเมถุน และห้ามรับประทานอาหารเย็น เพราะปรกติของมนุษย์ต้องเสพกาม และต้องกินอาหาร จะไม่ค้านกับที่อธิบายมาแล้วหรือ ?
ขอชี้แจงว่า ศีล ที่แปลว่ารักษาปรกติ นั้น มุ่งถึงศีล ๕ โดยตรงเท่านั้น ส่วนศีลชั้นสูง สูงกว่าศีล ๕ ขึ้นไป มีลักษณะและความมุ่งหมายต่างจากศีลห้า เข้าลักษณะเป็น “วัตร” นักศึกษาคงจะเคยได้ยินคำว่า “ศีลวัตร” หรือ “ศีลพรต” หรือคำว่า “บำเพ็ญพรต” คำว่า พรต กับคำว่า วัตร เป็นคำเดียวกัน หมายถึงข้อปฏิบัติเพื่อฝึกฝนตนเอง ให้สามารถถอนใจออกจากกามารมณ์ได้ทีละน้อย ๆ เป็นทางนำไปสู่การละกิเลสได้เด็ดขาดต่อไป ข้อปฏิบัติในขั้นวัตร เป็นการฝืนปรกติของคนนั้นถูกแล้ว ยิ่งวัตรชั้นสูง ชั้นพระภิกษุ ยิ่งฝืนปรกติเอามากทีเดียว
ผลการรักษาศีล
ผลของการรักษาศีล เราจะแยกพิจารณาเป็น ๓ ลักษณะคือ
๑. ผลทางส่วนตัว การรักษาศีล มีความมุ่งหมายปรากฏชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการเว้น จากการกระทำที่ไม่ดี ทั้งนี้ หมายความว่า การรักษาศีล เป็นการป้องกันตัวเราไว้ไม่ให้เสื่อมเสียลงไป ข้อนี้เป็นเหตุผลตรงตัว เมื่อท่านศึกษารายละเอียดของศีลแต่ละข้อแล้ว ยิ่งจะเห็นได้ชัดว่า การรักษาศีล เป็นการป้องกันตัวมิให้เสื่อมเสียอย่างดียิ่ง เป็นการรักษาพื้นฐานของชีวิตเพื่อความเจริญแก่ส่วนตน โดยเฉพาะ และมีผลต่อสังคมโดยรวมอีกต่างหาก ซึ่งในที่นี้จะได้แสดงถึงพื้น(ฐาน) ของคนและส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องต่อไปดังนี้
พื้นของคน
การรักษาศีล เป็นการปรับพื้นตัวของผู้รักษาศีลนั้นเองให้เป็นคนมีพื้นดี เหมาะที่จะสร้างความดีความเจริญแก่คนส่วนรวมต่อไป
พื้น เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่คนไม่ค่อยสนใจ การจะทำอะไรทุกอย่าง ต้องพิจารณาถึง พื้นเดิมของสิ่งนั้นก่อน ต้องทำพื้นให้ดี สิ่งที่ทำนั้นจึงจะเด่นดีขึ้น อย่างเวลาเขียนรูป ก่อนที่จะวาดรูป ลงไป ผู้เขียนต้องลงสีพื้นก่อน จะให้พื้นเป็นสีอะไร ต้องเลือกให้เหมาะ ๆ แล้วก็ลงสีพื้น ถ้าพื้นไม่เด่น รูปก็ไม่เด่น ถึงการเขียนหนังสือก็เหมือนกัน ต้องใช้พื้นกระดาษที่เขียนได้สะอาดเรียบร้อยจึงจะดี ถึงคน ผู้มีลายมือดี ถ้าเขียนลงบนพื้นเลอะเทอะเปรอะเปื้อน คุณค่าของหนังสือก็ดีไม่ถึงขนาด ถนนลาดยาง หรือถนนคอนกรีตที่เราสัญจรไปมาอยู่นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำ นายช่างต้องลงพื้นให้ดีเสียก่อน ถ้าพื้นไม่ดี ถ้าทำกันสักแต่ว่าสุกเอาเผากิน ไม่ช้าก็ทรุด ตึกรามใหญ่ ๆ โต ๆ ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปก็เหมือนกัน พื้นนั้นสำคัญมาก ต้องตอกเสาเข็มลงรากให้แข็งแรง ไม่เช่นนั้นจะทรุด และถ้าลงได้ทรุดแล้ว จะซ่อมยากลำบากลำบนจริง ๆ ให้ฝาหรือหลังคารั่วเสียอีก ดูเหมือนจะดีกว่าพื้นทรุด เพราะซ่อมง่ายกว่า ลงทุนน้อยกว่า
คนเราก็มีลักษณะเหมือนถนนหนทาง หรืออาคารบ้านเรือน ดังกล่าวแล้ว ถ้าพื้นดี ก็ดี ถ้าพื้นเสีย ก็เสียหาย คนพื้นดี ทำอะไรก็ดีขึ้น ไม่ว่าจะเล่าเรียน หรือเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เป็นพ่อค้า ชาวนา ชาวสวน จนกระทั่งบวชเป็นพระสงฆ์ ก็มีความเจริญก้าวหน้า ที่เรียกว่าทำขึ้น ถ้าได้พื้นดีแล้ว จะดีจริง ๆ จึงกล่าวได้ว่าโชคลาภในชีวิตอะไร ๆ ก็ดูจะสู้เป็นคนที่มีพื้นดีไม่ได้ และถ้าว่าข้างอาภัพ คนที่อาภัพที่สุด ก็คือคนที่มีพื้นเสีย ทำอะไรไม่ดีขึ้น
วิธีสังเกตพื้นคน
การจะดูพื้นว่าดีหรือไม่ดี เป็นการที่ยากสักหน่อย เพราะเป็นของที่จมอยู่ข้างล่าง หรือแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง เหมือนพื้นรากของโบสถ์ วิหาร ก็จมอยู่ในดิน ไม่ได้ขึ้นมาลอยหน้าอวดใคร ๆ เหมือนช่อฟ้า ใบระกา แต่ถึงจะดูยาก เราก็ต้องพยายาม ต้องหัดดูให้เป็น
วิธีดูพื้นของสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีที่สังเกต คือ สังเกตส่วนที่ปรากฏออกมาให้เห็นนั่นเอง เช่นจะดูพื้นถนนว่าดีหรือไม่ดี ก็ดูหลุมบ่อ ดูพื้นตึก ก็ให้ดูรอยร้าว เช่น ถ้าเราเห็นตึกหลังใดมีรอยร้าวตามฝาผนังเป็นทาง ๆ เราก็สันนิษฐานได้ว่า รากหรือพื้นตึกหลังนั้นไม่ดี
รอยร้าวทั้งห้า
การดูพื้นคน ก็ให้ดูรอยร้าวเหมือนกัน อาการที่เป็นรอยร้าวของคนที่สำคัญมี ๕ อย่าง ใช้คำเรียกอย่างสามัญได้ ดังนี้
๑. โหดร้าย
๒. มือไว
๓. ใจเร็ว
๔. ขี้ปด
๕. หมดสติ
ถ้าใครมีรอยร้าวทั้ง ๕ อย่างนี้ปรากฏออกมา ให้พึงรู้เถอะว่า ผู้นั้น เป็นคนพื้นเสีย
อาคารสถานที่ที่พื้นไม่แข็งแรง ถ้าปล่อยไว้เป็นที่ว่างเปล่า เพียงแต่ทรงตัวของมันอยู่บางทีก็อยู่ได้ คือ ทรงรูปร่างอยู่ได้ไม่ทรุดไม่พัง แต่เวลาใช้การ เช่นมีคนขึ้นไปอยู่ หรือนำสิ่งของขึ้นไปเก็บ อาคารจะทนไม่ไหว ประเดี๋ยวก็ทรุด พลาดท่าพังครืนทั้งหลัง เคยมีตัวอย่างมาแล้ว ผู้ที่พื้นเสียก็เหมือนกัน ลำพังเขาเองก็อยู่ได้ แต่พอมีหน้าที่ต้องรองรับเข้า ก็ทนไม่ไหว


การรักษาศีล ๕ เป็นเรื่องของการทำพื้นตัวโดยตรง พื้นตึก นายช่างสร้างด้วยไม้ ด้วยหิน
ปูน ทราย และเหล็ก แต่พื้นคน ต้องสร้างด้วยศีล ลงศีลห้าเป็นพื้นไว้เสียแล้ว รอยร้าวทั้งห้าจะไม่ปรากฏ
๒. ผลทางสังคม การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า สังคม ตั้งแต่ส่วนน้อยจนกระทั่งถึงส่วนใหญ่ จะมีความสุขความเจริญได้ ต้องมีความสงบ (สันติ) เป็นพื้นฐาน ถ้าความสงบมีสุขอื่นก็มีขึ้นได้ ถ้าไม่มีความสงบแล้ว สุขอื่นก็พังทลาย ดังนั้น ความสงบ หรือสันติ จึงเป็นสิ่งที่สังคมต้องการอย่างยิ่ง
ก็ความสงบของสังคมนั้น ย่อมมาจากคนในสังคมแต่ละคนนั่นเองเป็นผู้สงบ ถ้าคนในสังคมเป็นผู้ไม่สงบแล้ว ความสงบของสังคมจะมีไม่ได้เลย
คนรักษาศีล ก็เป็นคนทำความสงบแก่ตนเอง คือ ทำตนเองให้สงบ และการทำตนเองให้สงบ ก็เท่ากับสร้างความสงบให้แก่สังคมโดยตรงนั่นเอง
๓. ผลทางประเทศชาติ การดำรงรักษาประเทศชาติ มีภาระสำคัญยิ่งอยู่ ๒ ประการ คือ ๓.๑ การบำรุงให้ประเทศชาติเจริญ เช่น การเสริมสร้างการศึกษา การบำบัดทุกข์บำรุงสุข การส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น และ
๓.๒ การรักษา คือป้องกันการรุกรานจากศัตรู
ทั้ง ๒ ประการนี้รวมเรียกว่า บำรุงรักษาประเทศชาติ ได้มีผู้ข้องใจอยู่ว่า การที่คนรักษาศีล ทำให้การบำรุงรักษาประเทศชาติไม่ได้ผลเต็มที่ ที่คิดดังนี้เป็นเพราะคิดแง่เดียว คือนึกถึงตรงที่ประหัตประหารข้าศึกเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วการบำรุงรักษาชาติ ยังมีอีกร้อยทางพันทางซึ่งมีความสงบเป็นพื้นฐาน และเราได้ความสงบนั้นก็จากบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นผู้มีศีลดังกล่าวแล้ว ลองนึกวาดภาพดูซิว่า ถ้าคนทั้งประเทศทิ้งศีลกันหมด ฆ่าฟันกันอยู่ทั่วไป ลักปล้นฉ้อโกงกันดาษดื่น ล่วงเกินบุตรภรรยากันอย่างไม่มียางอาย โกหกปลิ้นปล้อน และดื่มสุรายาเมา สูบฝิ่นกินกัญชาทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร อย่าว่าแต่จะปราบศัตรูภายนอกเลย แม้แต่จะปราบโจรภายใน ก็ไม่ไหวแล้ว ถึงแม้ยามสงคราม ที่ทหารอุตส่าห์ทิ้งครอบครัวไปรบ ก็เพราะเชื่อแน่ว่าเพื่อนร่วมชาติที่อยู่แนวหลัง จะเป็นคนมีศีล ไม่ข่มเหงครอบครัวเขา และเชื่ออีกว่าครอบครัวเขาเองก็มีศีลมีสัตย์ต่อเขาด้วย
บรรพบุรุษของเรา รักษาประเทศชาติให้อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะชาวไทย เราพากันรักษาศีล คือ ไม่ทำลายล้างผลาญกันทั้งทางชีวิตร่างกาย ทางทรัพย์ และทางอื่น ๆ เราไม่ทำลายกันและกัน เราควบคุมกันเป็นปึกแผ่น ดินแดนไทยก็เป็นถิ่นที่สงบน่าอยู่ บางคราว มีเหตุร้ายเกิดขึ้น เพราะคนไม่มีศีล เราชาวไทยต้องทำการปราบปรามเหตุการณ์ร้ายนั้น ให้สงบราบคาบอย่างเด็ดขาด การสู้รบนั้น เป็นวิธีสุดท้ายที่เราทำด้วยความรักประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ของเรา เราต้องการให้ประชาชนพลเมืองมีความสงบสุขเท่านั้น หาใช่กระทำด้วยความเหี้ยมโหดทารุณในจิตใจไม่ เรารักเย็น เราเกลียดร้อน แต่เมื่อไฟไหม้ขึ้นแล้ว เราก็ต้องวิ่งเข้าไปหาไฟ เพื่อจะดับไฟนั้น แม้การเข้าไปดับไฟตัวจะร้อนแทบไหม้ เราก็ต้องยอมทน เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนใหญ่
การรักษาศีล จึงไม่ได้ทำให้กำลังป้องกันรักษาประเทศชาติของเราอ่อนลง บรรพบุรุษของเรา ท่านได้นำประเทศชาติลุล่วงมาจนถึงตัวเราทุกวันนี้ ท่านก็รักษาศีล คนรักษาศีลเป็นคนอ่อน ก็จริง แต่เป็นการอ่อนโยน ไม่ใช่อ่อนแอ ความอ่อนโยนเป็นเกราะป้องกันตัวดีที่สุด เพราะไม่ทำให้คนอื่นมาเป็นศัตรู การที่เราชาวไทยยึดมั่นในศีล คือชอบสงบเรียบร้อย จึงเป็นการสร้างกำแพงเหล็กกล้าป้องกันประเทศชาติของเราด้วย

วิรัติ
ศีล จะมีได้ก็ด้วยการตั้งเจตนางดเว้นจากความผิดนั้น ๆ ถ้าไม่มีเจตนาจะงดเว้น แม้มิได้ทำการละเมิด เช่นผู้ร้ายที่ถูกจับขังไว้ ขณะที่อยู่ในห้องขังนั้น ไม่ได้ฆ่าคน ไม่ลักของของใคร ก็ไม่นับว่า มีศีล (เว้นแต่เขาจะมีเจตนางดเว้น) เจตนางดเว้นจากการทำผิดศีล เรียกว่า “วิรัติ” มี ๓ อย่าง คือ
๑. สมาทานวิรัติ เจตนางดเว้นด้วยการสมาทานศีลไว้ล่วงหน้า
๒. สัมปัตตวิรัติ เจตนางดเว้นเมื่อเผชิญกับเหตุที่จะทำให้ผิดศีล
๓. สมุจเฉทวิรัติ เจตนางดเว้นเด็ดขาดของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว

p9-11 หลักการครองตนเป็นคนดี มีความสุข

หลักการครองตนเป็นคนดี มีความสุข
เบญจศีล เบญจธรรม
เบญจศีล หมายถึง ข้อปฏิบัติสำหรับละเว้นการทำความชั่ว ๕ ประการ เพราะคนที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความดีอย่างสมบูรณ์นั้น นอกจากจะละเว้นการทำความชั่วแล้วยังต้องกระทำคุณความดีด้วย ศีลธรรม คือข้อปฏิบัติเพื่อฝึกหัดกล่อมเกลานิสัยจิตใจของคนให้ประณีต มีมากมายหลายประการ แต่เมื่อกล่าวถึงศีลธรรมพื้นฐานที่สมควรจะปลูกฝังให้เกิดมีก่อนหลักธรรมอื่น ๆ มี ๒ ประการคือ เบญจศีลและเบญจธรรม ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่คนควรยึดถือทำตาม เพื่อความสงบสุขของชีวิตและสังคมโดยส่วนรวม
เบญจศีล
หลักแห่งพระพุทธโอวาทคือหลักการที่เราจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา มี ๓ ข้อ ในหลักทั้ง ๓ ข้อนี้ ถ้าพิจารณาถึงงานที่ทำก็มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ
๑. เว้นจากการทำคามชั่ว
๒. บำเพ็ญคุณความดี
ความชั่วเป็นข้อควรเว้นเป็นเบื้องต้น คือ การทำผิดศีลห้า ส่วนคุณความดีที่ควรบำเพ็ญ คือธรรม ในที่นี้ท่านแสดงไว้ ๕ ข้อ คู่กับศีล ศีล ๕ เรียกว่า เบญจศีล และธรรม ๕ เรียกว่า เบญจธรรม เบญจศีล หรือ ศีล ๕ ประการคือ
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ คือ ละเว้นการฆ่า การสังหาร ไม่ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย ทั้งนี้รวมถึงการไม่ทำร้ายร่างกาย การทรมาน การใช้แรงงานของคน และสัตว์จนเกินกำลังความสามารถด้วย
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ คือ ละเว้นการลักขโมย เบียดเบียนแย่งชิง ไม่ประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน ทั้งนี้รวมถึงการไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้มาเป็นของตนด้วย ไม่ว่าจะเป็นโดยวิธีการหลอกลวง ฉ้อโกง เบียดบัง ยักยอก ตลอดจนการทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบ
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการผิดประเวณี คือ ละเว้นประพฤติผิดในกาม ไม่ประทุษร้ายต่อของรักของหวงแหน อันเป็นการทำลายเกียรติภูมิและจิตใจ ตลอดจนทำวงศ์ตระกูลเขาให้สับสน หมายถึง การไม่ไปยุ่งเกี่ยวทางเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายที่มีคู่ครองแล้ว ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และผู้ที่กฎหมายคุ้มครอง
๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการกล่าวเท็จ คือ ละเว้นจากการพูดเท็จโกหกหลอกลวงประทุษร้ายเขาหรือประโยชน์สุขของเขาด้วยวาจา หมายถึง การไม่มีเจตนาที่จะบิดเบือนความจริงทุกอย่าง เช่น ไม่พูดเล่นสำนวนให้คนเข้าใจผิด ไม่อวดอ้างตนเอง ไม่พูดเกินความจริง หรือไม่พูดน้อยกว่าที่เป็นจริง เป็นต้น
๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือไม่เสพเครื่องดองของเมาสิ่งเสพติด อันเป็นเหตุให้เกิดความประมาทมัวเมา ก่อความฉิบหาย เสียหายผิดพลาดเพราะขาดสติ หมายถึง ละเว้นการดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้ตนเองครองสติไม่อยู่ เช่น เหล้า เบียร์ น้ำตาลเมา และรวมถึงละเว้นการเสพสิ่งเสพติดทั้งหลายด้วย ไม่ว่าจะเป็น ยาบ้า บุหรี่ ฝิ่น กัญชา เฮโรอีน เป็นต้น
ความหมายของศีล
คำว่า ศีล แปลได้มากความหมาย ๆ หนึ่งแปลว่า ปรกติ ที่ “รักษาศีล” ก็คือตั้งใจรักษาปรกติของตนนั่นเอง ต้องทำความเข้าใจเรื่องปรกติก่อน แล้วจะเข้าใจเรื่องรักษาศีลได้ดีขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีความปรกติในตนประจำอยู่ทั้งนั้น ดังที่จะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
ดวงอาทิตย์ ขึ้นทางทิศตะวันออกเวลาเช้า ส่องแสงสว่างอยู่ตลอดวัน แล้วหายลับไป ทางทิศตะวันตกในเวลาเย็น การขึ้น การส่องแสง และการหายลับไปอย่างนี้ เป็นปรกติของดวงอาทิตย์ เพราะดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างนี้อยู่ทุกวี่ทุกวัน ถ้าดวงอาทิตย์เกิดมีอันเป็นไปอย่างอื่นนอกจากนี้ ก็เรียกว่าผิดปรกติ เช่น กลางวันเคยส่องแสงกลับไม่ส่องแสง อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า ผิดปรกติ
การรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อ นั้น การรักษาปรกติของตนนั่นเอง ลองยกมาพิจารณาดูว่า ข้อห้ามทั้ง ๕ ข้อ ตรงกันกับปรกติของคนใช่หรือไม่ ขอให้พิจารณาทีละข้อดังต่อไปนี้
๑. การฆ่ากับการไม่ฆ่า อย่างไหนเป็นปรกติของคน แน่นอน ปรกติของคนต้องไม่ ฆ่ากัน อย่างที่เราอยู่ในลักษณะนี้แหละ ไม่ใช่ว่าคนเราจะต้องฆ่ากันอยู่เรื่อย ถ้าการฆ่ากันเป็นปรกติ ของคน ตัวเราเองก็จะถูกคนอื่นฆ่าไปนานแล้ว เท่านี้ก็เห็นได้แล้วว่า ปรกติของคนต้องไม่ฆ่ากัน ส่วนการฆ่าเป็นการทำผิดปรกติ โดยนัยนี้ การรักษาศีลข้อที่ ๑ คือ ตั้งใจไม่ฆ่า ก็คือตั้งใจอยู่ในปรกติเดิมนั่นเอง
๒. การขโมยกับการไม่ขโมย อย่างไหนเป็นปรกติของคน การไม่ขโมยนั่นแหละ เป็นปรกติ ปรกติของคนต้องทำมาหากิน ไม่ใช่แย่งกันกินโกงกันกิน ไม่เหมือนไก่ ไก่นั้น ถ้าหากินด้วยกันตั้งแต่สองตัวขึ้นไป มันต้องแย่งกันกิน ตัวหนึ่งคุ้ยดินหาอาหาร อีกตัวหนึ่งขโมยจิกกิน ประเดี๋ยวเดียว ตัวคุ้ยก็ตีตัวขโมย ปรกติของไก่เป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนปรกติของคน เราเป็นคนจะต้องอยู่ในปรกติของคน ถ้าใครคิดแย่งกันกิน ขโมยกันกิน ก็ผิดปรกติของคน แต่ไพล่ไปอยู่ในปรกติของไก่ การรักษาศีลข้อที่ ๒ คือ ตั้งใจไม่ขโมยของของคนอื่น ที่แท้ ก็คืออยู่ในปรกติเดิมของตนนั่นเอง
๓. เกี่ยวกับประเวณี ปรกติของคนย่อมหวงแหนประเวณี และเห็นอกเห็นใจคนอื่นในเรื่องนี้ ไม่เหมือนพวกเดรัจฉานที่ส้องเสพสำส่อน เพราะปรกติของเดรัจฉานเป็นอย่างนั้น เป็นความจริงใช่หรือไม่ มนุษย์เราก็จึงต้องอยู่ในปรกติของคน คือไม่ล่วงเกินประเวณี การรักษาศีลข้อที่ ๓ จึงเป็น การตั้งอยู่ในปรกติของตนอีกเหมือนกัน
๔. เกี่ยวกับการกล่าวเจรจา ตามปรกติ เรากล่าวความจริงกันเป็นพื้น ไม่ใช่โกหกกันเรื่อยไป เพราะฉะนั้น การรักษาศีลข้อที่ ๔ คือ ตั้งใจงดเว้นการกล่าวคำเท็จ ที่แท้ ก็คืออยู่ในปรกติเดิมของตนนั่นเอง
๕. เกี่ยวกับการดื่มสุรา คนเราไม่ใช่ว่าจะต้องดื่มสุราอยู่เรื่อยอย่างนั้นก็หาไม่ เพราะแม้คนที่ติดสุราขนาดไหนก็คงทำไม่ได้ ใครขืนทำก็ตาย ปรกติของคนคือดื่มน้ำบริสุทธิ์ ไม่ใช่ดื่มสุรา ส่วนการดื่มสุรานั้น เป็นการทำผิดปรกติ ฉะนั้น การรักษาศีลข้อที่ ๕ คือเว้นจากการดื่มสุรา ก็เป็นการอยู่ในปรกติเดิมของตนอีกนั่นแหละ

p3-9 พุทธจักร

พุทธจักร
ภายในสังฆมณฑล จึงเสมือนอาณาจักรหนึ่งต่างหากจากราชอาณาจักร เรียกว่า พุทธจักร เพราะมีพระวินัย ระเบียบ ข้อบังคับ กติกาและอาณัติสงฆ์เป็นเครื่องควบคุมภิกษุสงฆ์อีก
ต่างหากจากกฎหมายของบ้านเมือง พระสังฆราชาธิบดีมีอำนาจควบคุมคณะสงฆ์ตลอดมา เริ่มตั้งแต่
สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน
นิกายสงฆ์
เป็นธรรมดาของศาสนาทุกนิกาย เมื่อพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว และมีอายุยืนนานปี
ศาสนิกแบ่งเป็นหลายพวกหลายเหล่า เพราะมีการตีความหมายของคำสอนไม่ตรงกัน พระพุทธศาสนา
ก็เช่นเดียวกัน พระสงฆ์ผู้เป็นคณะบริหารศาสนามีความเห็นเกี่ยวกับพระธรรมวินัยไม่ตรงกัน มีจารีตขนบประเพณีผิดแผกกัน เพราะต่างมั่นใจในสิ่งที่ตนปฏิบัติว่าถูกต้อง ในชั้นแรกก็มีคนจำนวนน้อย แต่นานเข้าก็มีผู้เห็นตามมากขึ้น จนรวมเป็นคณะเรียกว่า นิกาย นิกายใหญ่ของพระพุทธศาสนาคือ เถรวาท และ มหายาน สำหรับคณะสงฆ์ไทยเป็นนิกายเถรวาท ต่อมาได้แบ่งย่อยลงไปอีกเป็น ๒ นิกาย คือ
๑. มหานิกาย เป็นนิกายเดิม
๒. ธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ใน พ.ศ.๒๓๗๖ โดยกำหนดด้วยการฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมาใหม่ของวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ว่าเป็นการตั้งคณะธรรมยุต
การแยกนิกายของคณะสงฆ์ไทย เป็นปัญหาเรื่องการปฏิบัติวินัยของสงฆ์อย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับธรรมะ จึงไม่กระทบกระเทือนถึงการนับถือของประชาชนแต่อย่างใด เพราะพระสงฆ์ ทั้ง ๒ นิกาย มุ่งปฏิบัติให้ถูกตามพระธรรมวินัยและต่างก็ได้ปกครองรักษาพระพุทธศาสนาเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ควรที่ฆราวาสจะให้การเคารพ สนับสนุนและทะนุบำรุง ทั้ง ๒ ฝ่าย ควบกันไป และไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะกีดกันการปฏิบัติของสงฆ์นิกายใดนิกายหนึ่ง
ภารกิจของคณะสงฆ์
ภารกิจ หรือหน้าที่ที่พระภิกษุสามเณรต้องปฏิบัติ เรียกว่าธุระ ธุระที่สำคัญมี ๒ อย่าง คือ
๑. การศึกษาพระปริยัติธรรม เรียกว่า คันถธุระ
๒. การปฏิบัติตามพระพุทธวจนะ เพื่อบรรลุผลเบื้องสูง เรียกว่า วิปัสสนาธุระ
คณะสงฆ์ไทยมีทั้งฝ่ายคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ซึ่งรัฐบาลและประชาชนให้ การสนับสนุนทั้ง ๒ ฝ่าย
การศึกษาพระปริยัติธรรมแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. แผนกนักธรรม
๒. แผนกบาลี
๓. มหาวิทยาลัยสงฆ์
บทบาทของวัดและพระสงฆ์ในอดีต
ในอดีตกาลประชาชนชาวไทยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระพุทธ-ศาสนาได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตและสังคมไทยในทุก ๆ ด้าน ทั้งในการดำเนินชีวิต การศึกษา ภาษา ประเพณีวัฒนธรรม ทุกอย่างล้วนมีความเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
บทบาทของวัดและพระสงฆ์ในอดีตนั้นไม่สามารถจะแยกออกจากสังคมไทยได้ ดังที่ท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า “ วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมไทยในทุกรูปแบบ ” เช่น
๑. วัดเป็นสถานศึกษาสำหรับชาวบ้านส่งบุตรหลานมาอยู่รับใช้พระ รับการศึกษาฝึกฝนอบรมทางศีลธรรมและเล่าเรียนวิชาต่าง ๆ ที่มีสอนในสมัยนั้น
๒. วัดเป็นสถานสงเคราะห์ที่บุตรหลานชาวบ้านที่ยากจนได้มาอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่และ
ศึกษาเล่าเรียนด้วย ตลอดถึงผู้ใหญ่ที่ยากจนได้มาอาศัยเลี้ยงชีพ
๓. วัดเป็นสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยตามภูมิรู้ของคนสมัยนั้น
๔. วัดเป็นที่พักของคนเดินทาง
๕. วัดเป็นสโมสร ที่ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์ พักผ่อนหย่อนใจ หาความรู้เพิ่มเติม
๖. วัดเป็นสถานบันเทิงที่จัดงานเทศกาล และมหรสพต่าง ๆ สำหรับชาวบ้านทั้งหมด
๗. วัดเป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาชีวิตครอบครัวและความทุกข์ต่าง ๆ
๘. วัดเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมที่รวมศิลปะต่าง ๆ ของชาติ ตลอดจนเป็นเหมือน
พิพิธภัณฑ์
๙. วัดเป็นคลังพัสดุสำหรับเก็บของใช้ต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกันเมื่อมีงานวัดหรือยืมไปใช้เมื่อคราวมีงาน
๑๐. วัดเป็นศูนย์กลางบริหารหรือปกครองที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะเรียกลูกบ้านมา ประชุมกัน บอกแจ้งกิจกรรมต่าง ๆ (ในยามสงครามอาจใช้เป็นที่ชุมนุมทหารด้วย)
๑๑. วัดเป็นที่ประกอบพิธีกรรมหรือใช้บริการด้านพิธีกรรมอันเป็นเครื่องผูกพันชีวิต ของคนทุกคนในระยะเวลาต่าง ๆ กันของชีวิต
ปัจจุบันบทบาทของวัด และพระสงฆ์ที่มีต่อสังคมลดน้อยลงไปทุกวัน ทั้งนี้เพราะเหตุต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายใน
บทบาทของวัดและพระสงฆ์ในปัจจุบัน
เหตุภายนอก เกิดจากความเจริญของโลกปัจจุบันที่มุ่งเน้นความเจริญทางวัตถุมากกว่า
จิตใจ คนในสังคมต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทางวัตถุจนลืมพระพุทธศาสนา
เหตุภายใน ได้แก่ บทบาทของวัดและพระสงฆ์ไม่มีการพัฒนาให้ทันกับความเจริญ ของโลกทั้งในด้านการศึกษา การอบรมสั่งสอนความรู้ทางศาสนา และการประพฤติปฏิบัติบางอย่างที่ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาและเบื่อหน่ายต่อพระพุทธศาสนา
แนวทางแก้ไข
๑. แก้เงื่อนไข
๒. ให้การศึกษา
๓. พัฒนาสร้างสรรค์
๑. แก้เงื่อนไข
การปรับปรุงแก้ไขสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญรุ่งเรืองของ
พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร เช่น การดำเนินการปราบปรามแหล่งอบายมุขอย่างจริงจังตลอดจนผู้ประพฤตินอกลู่นอกทางในวงพระพุทธศาสนาให้หมดไป เพื่อให้สถาบันของพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของมหาชน
๒. ให้การศึกษา
คือสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตรการศึกษาของชาติ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนของ
พระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง



๓. พัฒนาสร้างสรรค์
คือสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีสภาพแวดล้อมเกื้อกูลแก่การศึกษาและการปฏิบัติตาม หลักธรรมของพระพุทธศาสนา ทั้งในส่วนบุคคลและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางศาสนจักรจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาด้านจิตใจให้มากกว่าด้านวัตถุ เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองให้ได้
ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย
สถาบันหลักของสังคมไทยมีอยู่ ๓ สถาบัน คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา (อันหมายถึงพระพุทธศาสนา) และสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งสามสถาบันนี้ต่างพึ่งพาอาศัยกัน เกื้อหนุนค้ำจุนกันและดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดมา เราสามารถกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ของชาติไทย ก็เป็นประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาด้วย
สีทั้งสามของธงไตรรงค์ ซึ่งเป็นธงชาติไทย ก็เป็นสัญลักษณ์ยืนยันสถาบันหลักของสังคมไทย กล่าวคือ สีแดง หมายถึง ชาติ สีขาว หมายถึง พระพุทธศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึงพระมหากษัตริย์ เท่ากับเป็นการยืนยันว่า ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักสำคัญของประเทศ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปมิได้
เหตุผลที่ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักอย่างหนึ่งของสังคมไทยก็คือ
๑. พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันคู่กับชาติไทย พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณฑูต คือพระโสณะ และ
พระอุตตระ นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแถบจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน ตลอดจนจวบปัจจุบันพระพุทธศาสนาก็คงดำรงอยู่เคียงคู่กับชาติไทยมาโดยตลอด
๒. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ พระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัยทรงเป็นพุทธมามกะโดยพระราชประเพณี และต่อมาได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญการปกครองด้วย พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ก่อนขึ้นครองราชย์ มีพระราชประเพณีให้ออกผนวชชั่วคราว เพื่อศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และนำหลักธรรมนั้น ๆ มาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ ในกรณีที่ไม่สามารถออกผนวชก่อนขึ้นครองราชย์ ก็ต้องออกผนวชหลังจากนั้น (ดังกรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เป็นต้น พระองค์ได้เสด็จออกผนวช เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยทรงมีพระฉายาว่า “ภูมิพโล ภิกขุ”)
๓. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงให้ความสำคัญใน
การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เช่น
ทรงสร้างวัด ปฏิสังขรณ์วัด และปูชนียสถานต่าง ๆ อาทิ รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้าง
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม), รัชกาลที่ ๒ ทรงบูรณะวัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส), รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างวัดราชนัดดาราม วัดเฉลิมพระเกียรติ และทรงบูรณะวัดต่าง ๆ อีกมากมาย รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างวัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม วัดมกุฏกษัตริยาราม รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้าง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชบพิธ วัดเทพศิรินทราวาส รัชกาลต่อ ๆ มาก็ทรงเอาพระทัยใส่ต่อการพระพุทธศาสนาทุกพระองค์ จะเห็นได้ว่าพุทธสถานตลอดจนพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นเพราะพระมหากษัตริย์ไทยทรงสร้างไว้ให้เป็นมรดกของชาติเกือบทั้งสิ้น
ทรงอุปถัมป์การศึกษาพระพุทธศาสนา คือ ทรงสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม (การเรียนของพระภิกษุสามเณร) พระมหากษัตริย์บางพระองค์ทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีและพระไตรปิฎก ทรงจัดให้มีการบอกหนังสือ และการสอบไล่ในพระบรมมหาราชวัง โดยพระมหากษัตริย์ประทับนั่งเป็นสักขีพยาน จนทำให้มีการเรียกขานการสอบไล่ของพระภิกษุสามเณรว่า “สอบสนามหลวง” มาจนบัดนี้
ทรงส่งเสริมการปฏิบัติ คือ ทรงอุปถัมป์พระที่เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระในคราว
ขาดแคลนถึงกับต้องแสวงหาพระนักปฏิบัติมาสืบต่อพระศาสนาก็มี ดังกรณีสมเด็จพระเจ้าตากสิน-มหาราช เสด็จไปอาราธนาพระอาจารย์ศรีขึ้นมาจากเมืองนครศรีธรรมราช แล้วสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เพื่อฟื้นฟูบูรณะพระพุทธศาสนาให้กลับฟื้นคืนสู่ความเจริญรุ่งเรืองเหมือนดังเดิม เป็นต้น
ทรงยกย่องพระสงฆ์คือ ทรงยกย่องพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญในพระปริยัติ และด้านการปฏิบัติ ให้ดำรงสมณศักดิ์ตามความสามารถ และตามความเหมาะสม
ทรงแก้ไขปัญหาวิกฤติของพระพุทธศาสนา ในคราวพระพุทธศาสนาประสบภาวะวิกฤติ พระมหากษัตริย์ทรงชำระสังฆมณฑลให้บริสุทธิ์ ดังกรณีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงชำระสังฆมณฑลเมืองเหนือครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ เป็นต้น
ทรงสนับสนุนการสังคายนา ดังในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์ได้ทรงสนับสนุนและทรงอุปถัมภ์การสังคายนา คือการชำระพระไตรปิฎกให้คงความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนา
ทรงวางพระองค์เป็นแบบอย่างของชาวพุทธที่ดี พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์
ทรงดำรงอยู่ในศีล ทรงทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และมีพระราชจรรยานุวัตรเป็นแบบอย่างที่ดี
แก่พสกนิกร
๔. รัฐบาลไทยส่งเสริมสนับสนุนพระพุทธศาสนา หลังการปกครองระบอบ-
สมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พระราชอำนาจและพระราชภารกิจในการอุปถัมภ์
บำรุงพระพุทธศาสนา ก็ถูกมอบหมายให้กับรัฐบาล เพื่อสนองงานดังกล่าว เพราะฉะนั้นรัฐบาลไทยจึงมีหน้าที่โดยตรงที่จะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาทั้งในด้านการศึกษา และการปฏิบัติพระศาสนา โดยผ่านทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น

p1-3 พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย
พระพุทธศาสนาได้ถูกนำมาเผยแผ่ในประเทศไทยตั้งแต่แผ่นดินไทยทุกวันนี้ยังเป็นอาณาจักรทวาราวดีซึ่งในสมัยเดียวกันนั้นชาวไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในผืนแผ่นดินที่เป็นประเทศจีนเดี๋ยวนี้ และเป็นที่คาดกันว่าคนไทยได้เริ่มนับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งนั้นบ้างแล้ว
ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อาจแบ่งออกได้เป็น ๔ ยุค คือ
๑. ยุคเถรวาทแบบสมัยอโศก
๒. ยุคมหายาน
๓. ยุคเถรวาทแบบพุกาม
๔. ยุคเถรวาทแบบลังกาวงศ์
ยุคที่ ๑ เถรวาทแบบสมัยอโศก
พ.ศ. ๒๑๘ พระเจ้าอโศกม
หาราช ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ พระนครปาฏลีบุตร หลังจากเสร็จสิ้นการสังคายนาแล้ว ได้ทรงส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่าง ๆ รวม ๙ สาย บรรดา ๙ สายนั้น พระโสณะและพระอุตตระ เป็นสายหนึ่ง (คัมภีร์สมันตปาสาทิกาอรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎกนับเป็นสายที่ ๘ แต่คัมภีร์ศาสนวงศ์นับย้อนเป็นสายที่ ๒) นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในอาณาจักรสุวรรณภูมิ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าได้แก่จังหวัดนครปฐม โดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์เป็นต้น เป็นประจักษ์พยานอยู่จนบัดนี้ (พม่าว่าสุวรรณภูมิได้แก่เมืองสะเทิม ในพม่าภาคใต้)
ยุคที่ ๒ ยุคมหายาน
พ.ศ. ๖๒๐ พระเจ้ากนิษกมหาราช ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ณ เมือง ชลันธร และทรงส่งสมณทูตออกประกาศพระศาสนาในอาเซียกลางเป็นต้น คราวนั้นพระเจ้ามิ่งตี่ ทรงนำพระพุทธศาสนาจากอาเซียเข้าไปเผยแผ่ในประเทศจีนและได้ทรงส่งทูตสันถวไมตรีมายังขุนหลวงเม้า กษัตริย์ไทยผู้ครองอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาด้วย ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง ๗๗ เมือง มีราษฎร ๕๑,๘๙๐ ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๑๓๐๐ กษัตริย์แห่งศรีวิชัยในเกาะสุมาตราเรืองอำนาจ แผ่อาณาเขตเข้ามาถึงจังหวัด สุราษฎร์ธานี กษัตริย์ศรีวิชัยทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจึงทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเผยแพร่เข้ามาในภาคใต้ของประเทศไทยที่อยู่ในอาณาจักรของพระองค์ ดังมีเจดีย์พระธาตุไชยาและพระมหาธาตุนครศรีธรรมราชเป็นประจักษ์พยานถึงบัดนี้
พ.ศ. ๑๕๕๐ กษัตริย์ กัมพูชา ราชวงศ์สุริยวรมัน เรืองอำนาจ แผ่อาณาเขตลงมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทยและตั้งเมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นเมืองหลวงเมืองหนึ่งสำหรับปกครองดินแดนแถบนี้ (จึงเรียกสมัยนี้ว่าสมัย ลพบุรี) กษัตริย์กัมพูชาทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งได้เผยแพร่ต่อขึ้นมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่มหายานสมัยนี้ปนเปผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนถิ่นนี้จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิมกับมหายานและศาสนาพราหมณ์ ที่เข้ามาใหม่ ทำให้มีผู้นับถือทั้งสองแบบ และมีพระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกาย ภาษาสันสกฤต ก็เข้ามาเผยแพร่ มีอิทธิพลในภาษาและวรรณคดีไทยมากตั้งแต่บัดนั้น
ยุคที่ ๓ เถรวาทแบบพุกาม
พ.ศ. ๑๖๐๐ พระเจ้า อนุรุทธมหาราช หรืออโนรธามังช่อ กษัตริย์พุกาม เรืองอำนาจขึ้น ทรงปราบรามัญ รวมพม่าเข้าได้ทั้งหมด แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง จรดลพบุรี และทวาราวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงทำนุบำรุงและเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้า
ย้อนกล่าวถึงชนชาติไทยในจีน ถูกจีนรุกราน อพยพลงมาทางใต้ตามลำดับ หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวสลายตัว ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ครั้นถึงประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๙ ขุนท้าวกวา โอรสขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้า ได้มาตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสนในสุวรรณภูมิ กาลเวลาผ่านไปคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เมื่ออาณาจักรกัมพูชาเรืองอำนาจ คนไทยที่อยู่ในเขตอำนาจขอมได้รับศาสนาวัฒนธรรมขอมไว้ด้วย ส่วนคนไทยในอาณาจักรล้านนาคือภาคพายัพได้รับอิทธิพลขอมน้อย แต่เมื่ออาณาจักรพุกามแผ่เข้ามาครอบงำ คนไทยในถิ่นนี้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาสืบ ๆ มาอยู่แล้ว ก็รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบพุกามจนเจริญแพร่หลายขึ้นทั่วไปในฝ่ายเหนือ
ยุคที่ ๔ ยุคเถรวาทแบบลังกาวงศ์
พระพุทธศาสนาในยุคนี้ คือแบบที่นับถือสืบมาเป็นศาสนาประจำชาติของไทยจนถึงปัจจุบัน สำหรับยุคนี้ มีรายละเอียดที่ปรากฏในประวัติศาสตร์มากกว่ายุคก่อน ๆ
พ.ศ. ๑๘๐๐ ระยะนี้ อาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอำนาจลงแล้ว คนไทยตั้งตัวเป็นอิสระขึ้นได้ ทางเหนือเกิดอาณาจักรล้านนา ใต้ลงมาเกิดอาณาจักรสุโขทัย
ย้อนกล่าวทางฝ่ายพระพุทธศาสนา ในประเทศลังกา พ.ศ. ๑๖๙๖ พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ขึ้นครองราชย์ ทรงปราบทมิฬ ทำบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา รวมพระสงฆ์เข้าเป็นนิกายเดียว และโปรดให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๗ ขึ้น พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในลังกาทวีปทั้งการศึกษาและปฏิบัติ พระสงฆ์ประเทศต่าง ๆ เดินทางไปศึกษาธรรมวินัยและบวชแปลงใหม่แล้วกลับไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในประเทศของตน บ้างก็นิมนต์พระลังกามาด้วย สำหรับประเทศไทย พระสงฆ์ไทยและลังกาเช่นนี้ได้มาตั้งสำนักเผยแพร่อยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช ได้รับความนับถืออย่างรวดเร็ว
พ.ศ. ๑๘๒๐ พ่อขุนรามคำแหง เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกาวงศ์แล้วอาราธนา พระมหาเถรสังฆราช จากนครศรีธรรมราชเข้ามาพำนัก ณ วัดอรัญญิก ในกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ก็รุ่งเรืองแต่นั้นมา เบื้องต้นยังมีพระสงฆ์ ๒ พวก คือ คณะสงฆ์เดิมกับคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ แต่ในที่สุดได้รวมเข้าเป็นนิกายเดียวกัน ส่วนพระพุทธศาสนามหายานก็เสื่อมแล้วสูญไป ในรัชกาลนี้ได้นำ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งสร้างในลังกาขึ้นมาจากนครศรีธรรมราชไว้ ณ กรุงสุโขทัยด้วย (ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า ได้พระพุทธสิหิงค์มาใน พ.ศ.๑๘๐๐ รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ศิลปแบบลังกาเริ่มเข้ามาแทนที่ศิลปแบบมหายาน เช่นเจดีย์พระมหาธาตุนครศรีธรรมราชแปลงรูปเป็นสถูปแบบลังกาเป็นต้น
พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราช โปรดอุปถัมภ์จัดการสังคยานาครั้งที่ ๑ ของประเทศไทยหรือนับต่อจากลังกาเป็นครั้งที่ ๘ ที่วัดโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด
พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้ประชุมพระสงฆ์และราชบัณฑิตทำการสังคายนาครั้งที่ ๙ ณ วัดมหาธาตุ เสร็จแล้วคัดลอกสร้างเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวง เรียกว่า ฉบับทองใหญ่ ต่อมาทรงสร้างเพิ่ม ๒ ฉบับคือ ฉบับรองทอง และฉบับทองชุบ โปรดให้มี การสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวังตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านข้าราชการผู้ใหญ่
พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชดำริกับด้วยสมเด็จ- พระสังฆราช (มี) ให้ทำ พิธีวิสาขบูชา เป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์เป็นนักขัตตฤกษ์ใหญ่ของปี และโปรดให้มีการสังคายนาสวดมนต์ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลนี้สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้ขยายหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาบาลีจาก ๓ ชั้น (๓ ชั้น คือ เปรียญตรี –โท – เอก) เป็น ๙ ประโยค
พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์พระชนม์ได้ ๔๗ พรรษา (ภายหลังจากผนวชอยู่ได้ ๒๗ พรรษา) ทรงโปรดให้มีพิธีมาฆบูชา ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงสร้างพระไตรปิฎกฉบับล่องชาด ทรงอุปถัมภ์สงฆ์ญวน นับเป็นการให้ความรับรองเป็นทางการแก่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๑๖ ได้ทรงผนวชอยู่ ๑๕ วัน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พ.ศ. ๒๔๓๑ โปรดให้พิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยจบละ ๓๙ เล่ม จำนวน ๑,๐๐๐ จบ เป็นครั้งแรกที่มีการพิมพ์ พระไตรปิฎกเป็นอักษรไทย เสร็จและฉลองใน พ.ศ. ๒๔๓๖ พร้อมกับงานรัชดาภิเษก กับโปรดให้แต่งและพิมพ์คัมภีร์เทศนา พระราชทานพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ ทั้งใน กรุงและหัวเมืองทั่วกันใน พ.ศ. ๒๔๓๑ นั้น
พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาจัดเป็นบาลีวิทยาลัยขึ้นที่วัดมหาธาตุขนานนามว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เป็นครั้งแรกที่ใช้นามวิทยาลัยในประเทศไทย และต่อมาในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๓๙ เสด็จไปทรงวาง ศิลาฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ประกาศพระราชปรารภเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็น “มหาจุฬา-ลงกรณราชวิทยาลัย” ให้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรม และวิชาชั้นสูงต่อไป
พ.ศ. ๒๔๓๖ เสด็จไปทรงเปิด มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา- วชิรญาณวโรรสทรงริเริ่มจัดตั้งขึ้น
พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรง พระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระพุทธศาสนามาก ถึงกับทรงเทศนาสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วย
พระองค์เอง และทรงพระราชนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่องเช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร แสดงคุณานุคุณ เป็นต้น
พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดให้ใช้ พุทธศักราช เป็นศักราชทางราชการแทนรัตนโกสินทร์ศก ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๖
พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดให้จัดพิมพ์
พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ จบละ ๔๕ เล่ม จำนวน ๑,๕๐๐ จบ เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระบาท-สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปในนานาประเทศประมาณ ๔๐๐ - ๔๕๐ จบ
พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ – ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ และประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา ๑๕ วัน จึงทรงลาผนวช
พ.ศ. ๒๕๐๘ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ได้มาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทยตามกำหนดเวลา ๔ ปี ต่อมาในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๙ ขององค์การเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่ประชุมได้มีมติให้สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวรสืบไป
พ.ศ. ๒๕๔๒ องค์การสหประชาชาติ ประกาศรับรองว่าวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของชาวโลก