ลงทุนกับ myinvestmentarea

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

p1-3 พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย
พระพุทธศาสนาได้ถูกนำมาเผยแผ่ในประเทศไทยตั้งแต่แผ่นดินไทยทุกวันนี้ยังเป็นอาณาจักรทวาราวดีซึ่งในสมัยเดียวกันนั้นชาวไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในผืนแผ่นดินที่เป็นประเทศจีนเดี๋ยวนี้ และเป็นที่คาดกันว่าคนไทยได้เริ่มนับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งนั้นบ้างแล้ว
ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อาจแบ่งออกได้เป็น ๔ ยุค คือ
๑. ยุคเถรวาทแบบสมัยอโศก
๒. ยุคมหายาน
๓. ยุคเถรวาทแบบพุกาม
๔. ยุคเถรวาทแบบลังกาวงศ์
ยุคที่ ๑ เถรวาทแบบสมัยอโศก
พ.ศ. ๒๑๘ พระเจ้าอโศกม
หาราช ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ พระนครปาฏลีบุตร หลังจากเสร็จสิ้นการสังคายนาแล้ว ได้ทรงส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่าง ๆ รวม ๙ สาย บรรดา ๙ สายนั้น พระโสณะและพระอุตตระ เป็นสายหนึ่ง (คัมภีร์สมันตปาสาทิกาอรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎกนับเป็นสายที่ ๘ แต่คัมภีร์ศาสนวงศ์นับย้อนเป็นสายที่ ๒) นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในอาณาจักรสุวรรณภูมิ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าได้แก่จังหวัดนครปฐม โดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์เป็นต้น เป็นประจักษ์พยานอยู่จนบัดนี้ (พม่าว่าสุวรรณภูมิได้แก่เมืองสะเทิม ในพม่าภาคใต้)
ยุคที่ ๒ ยุคมหายาน
พ.ศ. ๖๒๐ พระเจ้ากนิษกมหาราช ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ณ เมือง ชลันธร และทรงส่งสมณทูตออกประกาศพระศาสนาในอาเซียกลางเป็นต้น คราวนั้นพระเจ้ามิ่งตี่ ทรงนำพระพุทธศาสนาจากอาเซียเข้าไปเผยแผ่ในประเทศจีนและได้ทรงส่งทูตสันถวไมตรีมายังขุนหลวงเม้า กษัตริย์ไทยผู้ครองอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาด้วย ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง ๗๗ เมือง มีราษฎร ๕๑,๘๙๐ ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๑๓๐๐ กษัตริย์แห่งศรีวิชัยในเกาะสุมาตราเรืองอำนาจ แผ่อาณาเขตเข้ามาถึงจังหวัด สุราษฎร์ธานี กษัตริย์ศรีวิชัยทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจึงทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเผยแพร่เข้ามาในภาคใต้ของประเทศไทยที่อยู่ในอาณาจักรของพระองค์ ดังมีเจดีย์พระธาตุไชยาและพระมหาธาตุนครศรีธรรมราชเป็นประจักษ์พยานถึงบัดนี้
พ.ศ. ๑๕๕๐ กษัตริย์ กัมพูชา ราชวงศ์สุริยวรมัน เรืองอำนาจ แผ่อาณาเขตลงมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทยและตั้งเมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นเมืองหลวงเมืองหนึ่งสำหรับปกครองดินแดนแถบนี้ (จึงเรียกสมัยนี้ว่าสมัย ลพบุรี) กษัตริย์กัมพูชาทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งได้เผยแพร่ต่อขึ้นมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่มหายานสมัยนี้ปนเปผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนถิ่นนี้จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิมกับมหายานและศาสนาพราหมณ์ ที่เข้ามาใหม่ ทำให้มีผู้นับถือทั้งสองแบบ และมีพระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกาย ภาษาสันสกฤต ก็เข้ามาเผยแพร่ มีอิทธิพลในภาษาและวรรณคดีไทยมากตั้งแต่บัดนั้น
ยุคที่ ๓ เถรวาทแบบพุกาม
พ.ศ. ๑๖๐๐ พระเจ้า อนุรุทธมหาราช หรืออโนรธามังช่อ กษัตริย์พุกาม เรืองอำนาจขึ้น ทรงปราบรามัญ รวมพม่าเข้าได้ทั้งหมด แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง จรดลพบุรี และทวาราวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงทำนุบำรุงและเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้า
ย้อนกล่าวถึงชนชาติไทยในจีน ถูกจีนรุกราน อพยพลงมาทางใต้ตามลำดับ หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวสลายตัว ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ครั้นถึงประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๙ ขุนท้าวกวา โอรสขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้า ได้มาตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสนในสุวรรณภูมิ กาลเวลาผ่านไปคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เมื่ออาณาจักรกัมพูชาเรืองอำนาจ คนไทยที่อยู่ในเขตอำนาจขอมได้รับศาสนาวัฒนธรรมขอมไว้ด้วย ส่วนคนไทยในอาณาจักรล้านนาคือภาคพายัพได้รับอิทธิพลขอมน้อย แต่เมื่ออาณาจักรพุกามแผ่เข้ามาครอบงำ คนไทยในถิ่นนี้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาสืบ ๆ มาอยู่แล้ว ก็รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบพุกามจนเจริญแพร่หลายขึ้นทั่วไปในฝ่ายเหนือ
ยุคที่ ๔ ยุคเถรวาทแบบลังกาวงศ์
พระพุทธศาสนาในยุคนี้ คือแบบที่นับถือสืบมาเป็นศาสนาประจำชาติของไทยจนถึงปัจจุบัน สำหรับยุคนี้ มีรายละเอียดที่ปรากฏในประวัติศาสตร์มากกว่ายุคก่อน ๆ
พ.ศ. ๑๘๐๐ ระยะนี้ อาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอำนาจลงแล้ว คนไทยตั้งตัวเป็นอิสระขึ้นได้ ทางเหนือเกิดอาณาจักรล้านนา ใต้ลงมาเกิดอาณาจักรสุโขทัย
ย้อนกล่าวทางฝ่ายพระพุทธศาสนา ในประเทศลังกา พ.ศ. ๑๖๙๖ พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ขึ้นครองราชย์ ทรงปราบทมิฬ ทำบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา รวมพระสงฆ์เข้าเป็นนิกายเดียว และโปรดให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๗ ขึ้น พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในลังกาทวีปทั้งการศึกษาและปฏิบัติ พระสงฆ์ประเทศต่าง ๆ เดินทางไปศึกษาธรรมวินัยและบวชแปลงใหม่แล้วกลับไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในประเทศของตน บ้างก็นิมนต์พระลังกามาด้วย สำหรับประเทศไทย พระสงฆ์ไทยและลังกาเช่นนี้ได้มาตั้งสำนักเผยแพร่อยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช ได้รับความนับถืออย่างรวดเร็ว
พ.ศ. ๑๘๒๐ พ่อขุนรามคำแหง เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกาวงศ์แล้วอาราธนา พระมหาเถรสังฆราช จากนครศรีธรรมราชเข้ามาพำนัก ณ วัดอรัญญิก ในกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ก็รุ่งเรืองแต่นั้นมา เบื้องต้นยังมีพระสงฆ์ ๒ พวก คือ คณะสงฆ์เดิมกับคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ แต่ในที่สุดได้รวมเข้าเป็นนิกายเดียวกัน ส่วนพระพุทธศาสนามหายานก็เสื่อมแล้วสูญไป ในรัชกาลนี้ได้นำ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งสร้างในลังกาขึ้นมาจากนครศรีธรรมราชไว้ ณ กรุงสุโขทัยด้วย (ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า ได้พระพุทธสิหิงค์มาใน พ.ศ.๑๘๐๐ รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ศิลปแบบลังกาเริ่มเข้ามาแทนที่ศิลปแบบมหายาน เช่นเจดีย์พระมหาธาตุนครศรีธรรมราชแปลงรูปเป็นสถูปแบบลังกาเป็นต้น
พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราช โปรดอุปถัมภ์จัดการสังคยานาครั้งที่ ๑ ของประเทศไทยหรือนับต่อจากลังกาเป็นครั้งที่ ๘ ที่วัดโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด
พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้ประชุมพระสงฆ์และราชบัณฑิตทำการสังคายนาครั้งที่ ๙ ณ วัดมหาธาตุ เสร็จแล้วคัดลอกสร้างเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวง เรียกว่า ฉบับทองใหญ่ ต่อมาทรงสร้างเพิ่ม ๒ ฉบับคือ ฉบับรองทอง และฉบับทองชุบ โปรดให้มี การสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวังตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านข้าราชการผู้ใหญ่
พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชดำริกับด้วยสมเด็จ- พระสังฆราช (มี) ให้ทำ พิธีวิสาขบูชา เป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์เป็นนักขัตตฤกษ์ใหญ่ของปี และโปรดให้มีการสังคายนาสวดมนต์ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลนี้สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้ขยายหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาบาลีจาก ๓ ชั้น (๓ ชั้น คือ เปรียญตรี –โท – เอก) เป็น ๙ ประโยค
พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์พระชนม์ได้ ๔๗ พรรษา (ภายหลังจากผนวชอยู่ได้ ๒๗ พรรษา) ทรงโปรดให้มีพิธีมาฆบูชา ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงสร้างพระไตรปิฎกฉบับล่องชาด ทรงอุปถัมภ์สงฆ์ญวน นับเป็นการให้ความรับรองเป็นทางการแก่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๑๖ ได้ทรงผนวชอยู่ ๑๕ วัน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พ.ศ. ๒๔๓๑ โปรดให้พิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยจบละ ๓๙ เล่ม จำนวน ๑,๐๐๐ จบ เป็นครั้งแรกที่มีการพิมพ์ พระไตรปิฎกเป็นอักษรไทย เสร็จและฉลองใน พ.ศ. ๒๔๓๖ พร้อมกับงานรัชดาภิเษก กับโปรดให้แต่งและพิมพ์คัมภีร์เทศนา พระราชทานพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ ทั้งใน กรุงและหัวเมืองทั่วกันใน พ.ศ. ๒๔๓๑ นั้น
พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาจัดเป็นบาลีวิทยาลัยขึ้นที่วัดมหาธาตุขนานนามว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เป็นครั้งแรกที่ใช้นามวิทยาลัยในประเทศไทย และต่อมาในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๓๙ เสด็จไปทรงวาง ศิลาฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ประกาศพระราชปรารภเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็น “มหาจุฬา-ลงกรณราชวิทยาลัย” ให้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรม และวิชาชั้นสูงต่อไป
พ.ศ. ๒๔๓๖ เสด็จไปทรงเปิด มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา- วชิรญาณวโรรสทรงริเริ่มจัดตั้งขึ้น
พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรง พระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระพุทธศาสนามาก ถึงกับทรงเทศนาสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วย
พระองค์เอง และทรงพระราชนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่องเช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร แสดงคุณานุคุณ เป็นต้น
พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดให้ใช้ พุทธศักราช เป็นศักราชทางราชการแทนรัตนโกสินทร์ศก ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๖
พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดให้จัดพิมพ์
พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ จบละ ๔๕ เล่ม จำนวน ๑,๕๐๐ จบ เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระบาท-สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปในนานาประเทศประมาณ ๔๐๐ - ๔๕๐ จบ
พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ – ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ และประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา ๑๕ วัน จึงทรงลาผนวช
พ.ศ. ๒๕๐๘ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ได้มาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทยตามกำหนดเวลา ๔ ปี ต่อมาในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๙ ขององค์การเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่ประชุมได้มีมติให้สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวรสืบไป
พ.ศ. ๒๕๔๒ องค์การสหประชาชาติ ประกาศรับรองว่าวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของชาวโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น