ลงทุนกับ myinvestmentarea

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เบญจธรรม

ธรรมกับวินัย

เบญจธรรมนั้น บางทีเรียก กัลยาณธรรม แปลว่า ธรรมอันทำให้ผู้ประพฤติเป็นคนดีงาม บางทีใช้คำว่า เบญจธรรมเฉย ๆ แปลว่า ธรรมห้าอย่าง ก็เป็นอันรู้กันว่าหมายถึงกัลยาณธรรมนี้ ส่วนมากใช้ควบกับคำว่า เบญจศีล เช่นใช้ว่า เบญจศีลเบญจธรรมท่านที่เคยเคร่งศัพท์ใช้เต็มอัตราเลย ก็มีเหมือนกัน คือใช้คำว่า เบญจกัลยาณธรรม

เราได้ทราบมาจากตอนต้นแล้วว่า พระพุทธศาสนาประกอบด้วยพระธรรมกับพระวินัย หมายความว่าโอวาทของพระพุทธองค์ทั้งสิ้นนั้น เมื่อแบ่งออกแล้ว มีอยู่สองประเภท คือ

. ธรรมะ ได้แก่ข้อปฏิบัติต่าง ๆ อันจะทำให้กาย วาจา ใจ ประณีตขึ้น

. วินัย ได้แก่ข้อห้าม หรือระเบียบควบคุมมิให้ตัวเราตกไปสู่ความชั่ว

ธรรมกับวินัยนี้ สำนวนทางพระ เวลาเรียกชอบเรียกว่า ธรรมวินัยแต่สำนวนชาวบ้านเราใช้คำว่า ศีลธรรมเช่นในหลักสูตรโรงเรียนก็เรียกว่า วิชาศีลธรรม ความหมายก็เหมือนกับคำว่า ธรรมวินัย คือ คำว่า ศีล = วินัย คำว่าธรรม = ธรรม

การประพฤติธรรมวินัย

เมื่อพระบรมศาสดาของเรา ได้ทรงรับสั่งไว้ให้เราทราบอย่างชัด ๆ ว่า พระโอวาทของพระองค์มีอยู่สองประการคือ ธรรม กับ วินัย อย่างนี้ เราผู้เป็นศาสนิกของท่าน เป็นผู้รับปฏิบัติตามศาสนาของท่าน ก็ต้องใส่ใจปฏิบัติให้ครบทั้งธรรมทั้งวินัย(ศีล) ควบกันไปเสมอ จึงจะได้ชื่อว่าได้เข้าถึงพระศาสนาที่เรียกว่า เป็นผู้มีศีลธรรม

การรักษาศีลก็ทำให้เราเป็นคนดีได้ แต่เป็นเพียงคนดีขั้นต้น คือดีที่เป็นคนไม่ทำความชั่วเท่านั้นเอง ถ้าหยุดอยู่เพียงนี้อาจเสียได้ ยกตัวอย่างคนเว้นจากการฆ่าสัตว์ ซึ่งเรายอมรับกันว่าเป็นคนมีศีล ถ้าคนผู้นี้เดินเล่นไปตามริมคลอง เห็นเด็กตกน้ำกำลังจะจมน้ำตาย ถ้าจะช่วยเขาก็ช่วยได้ แต่ไม่ช่วย กลับยืน มือก็กอดอกอยู่เฉย ๆ ถือว่าตัวไม่ได้ฆ่า ศีลบริสุทธิ์อยู่ ตามตัวอย่างนี้ ท่านนักศึกษาจะเห็นเป็นอย่างไร คนทั้งโลกก็ต้องลงความเห็นว่า เขาเป็นคนไม่ดี เพราะคนดีจะต้องรู้จักเว้นจากการฆ่าคนด้วย และรู้จักช่วยชีวิตคนด้วย

การเว้นจากการฆ่า นั่นเป็นการรักษาศีล

การช่วยชีวิตเขา นี้เป็นการปฏิบัติธรรม

ฉะนั้น ผู้รักษาศีลห้า พึงประพฤติเบญจธรรมกำกับไปด้วยจัดเป็นคู่ ๆ ดังนี้

เบญจศีล เบญจธรรม

เว้นจากการฆ่าสัตว์ คู่กับ เมตตากรุณา

เว้นจากการลักทรัพย์ คู่กับ สัมมาอาชีพ

เว้นจากการผิดในกาม คู่กับ กามสังวร

เว้นจากการพูดเท็จ คู่กับ สัจจวาจา

เว้นจากการดื่มสุรา คู่กับ สติสัมปชัญญะ

ความหมายของ เบญจธรรม

เบญจธรรม คือหลักธรรม ๕ ประการอันเป็นคู่ของ เบญจศีล แต่ละข้อมีความหมายดังนี้

. เมตตากรุณา คือปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข และช่วยเหลือเขาให้พ้นทุกข์ การไม่ทำร้ายผู้อื่นนั้นก็นับว่าเป็นคนดีแล้ว แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ต้องเอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้อื่นด้วย สังคมจึงจะสงบร่มเย็นยิ่ง ๆ ขึ้น

. สัมมาอาชีพ คือตั้งใจทำมาหาเลี้ยงโดยสุจริต หมายถึง การหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ธรรมข้อนี้คู่กับศีลข้อสองที่ให้ละเว้นจากการถือเอาของที่เขาไม่ให้ คนที่ประกอบอาชีพสุจริต ขยันขันแข็งในการทำมาหากิน ย่อมยินดีกับของที่ตนหาได้เอง ไม่คิดฉกฉวยเอาของผู้อื่น

. กามสังวร คือระมัดระวังในเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ทางกามารมณ์ หมายถึง การยินดีเฉพาะในคู่ครองของตนและการไม่คิดหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องความรักความใคร่จนเกินขอบเขต การที่คนเรามีความต้องการทางเพศนั้น มิใช่ของผิดปกติแต่อย่างใด แต่ถ้าเดินสายกลางไว้ ก็จะทำให้เราไม่ไปผิดลูกเมีย ผู้อื่น ธรรมข้อนี้คู่กับศีลข้อสาม

. สัจจวาจา คือรักษาวาจาให้ได้จริง บูชาคำจริง หมายถึง การพูดความจริง เป็นธรรมที่ใช้คู่กับศีลข้อสี่ที่ให้เว้นจากการพูดเท็จ ธรรมข้อนี้เป็นการส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักแสดงไมตรีจิต

ต่อกันทางวาจา การพูดความจริงนี้หมายรวมถึงการพูดคำสุภาพ คำอ่อนหวาน และการสื่อสารที่ตรงกับความเป็นจริง ไม่บิดเบือนสื่อ

. สติสัมปชัญญะ คือฝึกตนมิให้ประมาท หมายถึง มีสติรอบคอบรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร พูดอะไร ธรรมข้อนี้คู่กับศีลข้อห้าที่ห้ามมิให้ดื่มสุราเมรัย ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามศีลและธรรมข้อที่ห้าอยู่เสมอจะเป็นผู้ที่ไม่ขาดสติ ไม่ประมาท จะทำการสิ่งใดก็จะสำเร็จได้โดยไม่ยาก และโอกาสที่จะเผลอตัวทำผิดด้วยความประมาทก็มีน้อยหรือไม่มีเลย

มนุษยธรรม

มีข้อควรทราบอีกอย่างหนึ่ง คือศีลห้านี้ ความจริงเป็นข้อปฏิบัติต่อกันในระหว่างมนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์เรียกว่า มนุษยธรรม แปลว่า ธรรมของมนุษย์ หรือธรรมะเครื่องทำผู้ประพฤติให้เป็นมนุษย์

ครั้นเมื่อพระสิทธัตถะตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงรับรองและส่งเสริมศีลห้านี้ ทรงรับเข้าเป็นคำสอนในศาสนาของพระองค์ ทรงแสดงความหมายหรือเงื่อนไขของแต่ละข้อให้ละเอียดแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เพื่อปิดกั้นความชั่วที่จะไหลซึมเข้ามาสู่ใจได้สนิท

ในบางแห่ง ท่านเรียกศีลห้าว่า นิจศีล คือเป็นศีลที่ทุกคนควรรักษาเป็นนิจ

ความสัมพันธ์ของศีล กับ สุจริต ทุจริต

คำว่า สุจริต แปลว่า ความประพฤติดี อันความประพฤติที่จะเรียกว่าสุจริตได้นั้น ต้องเป็นความประพฤติดีที่เว้นจากทุจริต จะทำ จะพูด จะคิด อะไรก็ตาม ต้องไม่เข้าลักษณะแห่งทุจริต

ลักษณะแห่งสุจริตแบ่งออกเป็น ๓ อย่าง ดังนี้

. กายสุจริต ความประพฤติดีทางกาย ได้แก่

- ไม่ฆ่าสัตว์

- ไม่ถือเอาของที่เจ้าของไม่ให้

- ไม่ทำผิดในทางประเวณี

. วจีสุจริต ความประพฤติดีทางวาจา ได้แก่

- ไม่กล่าวคำเท็จ

- ไม่กล่าวคำหยาบคาย

- ไม่กล่าวคำส่อเสียด

- ไม่กล่าวคำเพ้อเจ้อ

. มโนสุจริต ความประพฤติดีทางใจ ได้แก่

- ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น

- ไม่คิดจองล้างจองผลาญคนอื่น

- เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม

ส่วนคำว่า ทุจริต แปลว่า ความประพฤติชั่ว ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามจากสุจริต ๓ ประการ ดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม้แก่นเป็นไม้ที่มีราคาสูงสุด ฉันใด คนมีแก่นสุจริต ย่อมเป็นคนทรงคุณค่าสูงเด่นกว่าคนทั้งหลาย ฉันนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น