ลงทุนกับ myinvestmentarea

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

p14-16 หลักการรักษาศีล,เบญจศีลสิกขาบทที่ ๑

หลักการรักษาศีล
เรื่องการศึกษาศีลแต่ละสิกขาบทนี้ เราต้องหาความรู้ และความเข้าใจใน ๔ จุดโดยรวม คือ
๑. ความมุ่งหมาย
๒. ข้อห้าม
๓. หลักวินิจฉัยโทษ
๔. เหตุผลอื่น
เบญจศีลสิกขาบทที่ ๑
ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๑. ความมุ่งหมาย ท่านบัญญัติศีลข้อนี้ไว้ โดยมุ่งให้มนุษย์อบรมจิตของตนให้คลายความเหี้ยมโหด มีเมตตากรุณาต่อกันและกัน เผื่อแผ่แก่สัตว์ทั้งปวงด้วย
๒. ข้อห้าม ในสิกขาบทนี้ ห้ามการฆ่าโดยตรง แต่ผู้รักษาศีล พึงเว้นจากการกระทำอันเป็นบริวารของการฆ่าด้วย คือ
๒.๑ การฆ่า (ทำให้ศีลขาด)
- กิริยาที่ฆ่า หมายถึง การทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป คำว่า สัตว์ หมายเอามนุษย์และเดียรัจฉานทุกชนิด ชั้นที่สุดแม้สัตว์ในครรภ์
- บาปกรรม การฆ่าสัตว์ทุกชนิดทำให้ศีลขาดทั้งนั้น แต่ทางบาปกรรมย่อม ลดหลั่นกัน
- หลักวินิจฉัย ท่านวางหลักวินิจฉัยบาปกรรมไว้ ๓ อย่าง คือ
๑. วัตถุ หมายถึง สัตว์ที่ถูกฆ่า ในทางวัตถุนี้ ฆ่าคนบาปมากกว่าสัตว์เดรัจฉาน แม้ในการฆ่าคนนั้นยังมีลดหลั่น นับตั้งแต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าคนมีคุณ ฆ่าคนทั่วไป ฆ่าคน ที่เป็นภัยแก่คนอื่น บาปกรรมก็ลดหลั่นกันไปตามลำดับ แม้ฆ่าสัตว์เดรัจฉาน ก็พิจารณาตามเกณฑ์อย่างเดียวกันนี้ คือ ฆ่าสัตว์มีคุณ บาปมากกว่าสัตว์ทั่วไป
๒. เจตนา หมายถึง เจตนาของผู้ฆ่า ในทางเจตนานี้ การฆ่าด้วยความอำมหิต เช่นรับจ้างฆ่าคน หรือฆ่าด้วยความอาฆาตพยาบาทอันร้ายกาจ ฆ่าด้วยอำนาจโมหะ เช่น ยิงสัตว์เล่นเพราะเห็นแก่สนุก เหล่านี้ บาปจะมีมากน้อยลดหลั่นกัน ส่วนการฆ่าด้วยจิตที่มีเมตตาผสมอยู่ เช่น แพทย์ทดลองวิชาเพื่อหาวิธีรักษาคนอื่นสัตว์อื่น หรือฆ่าเพื่อป้องกันตัว และทำให้เขาตายโดยพลาดพลั้ง บาปกรรมก็เบาบางลงตามลำดับ
๓. ประโยค หมายถึง วิธีการฆ่า ในทางประโยค คือวิธีฆ่านี้ ถ้าฆ่าโดยวิธีทรมานให้ลำบากมาก หวาดเสียวมาก ช้ำใจมาก ก็บาปมาก
การฆ่านี้ ทางศาสนาห้ามรวมถึงการฆ่าตัวเองด้วย ถือว่าเป็นการกระทำอันน่าตำหนิ และจิตใจของผู้ฆ่าตัวเองก็ไม่พ้นความมัวหมอง
๒.๒ การทำร้ายร่างกาย (ทำให้ศีลด่างพร้อย)
การทำร้ายร่างกาย หมายถึงการทำให้ร่างกายเขาเสียรูป เสียงาม เจ็บป่วยหรือพิการ(แต่ไม่ถึงตาย) จะด้วยการยิง ฟัน ทุบ ตีก็ตาม ซึ่งกระทำโดยเจตนาร้ายต่อผู้นั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ
๒.๓ การทรกรรม (ทำให้ศีลด่างพร้อย)
การทรกรรม คือการทำให้สัตว์ได้รับความลำบาก โดยขาดเมตตาปรานี มีลักษณะดังนี้
๑. ใช้งานเกินกำลัง ไม่ให้ได้รับการพักผ่อนและการเลี้ยงดูตามควร
๒. กักขังในที่อันไม่อาจเปลี่ยนอิริยาบถได้ และเป็นอันตราย
๓. นำสัตว์ไปโดยวิธีอันทรมานยิ่งนัก
๔. ผจญสัตว์ เช่น ยั่วสัตว์ให้ทำลายกัน เพราะเห็นแก่ความสนุกของตน
๓. หลักวินิจฉัย ( หรือองค์ของศีล ) การฆ่าถึงขั้นศีลขาด ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๓.๑ สัตว์นั้นมีชีวิต
๓.๒ ผู้ฆ่ารู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓.๓ ผู้ฆ่าคิดจะฆ่า
๓.๔ พยายามฆ่า
๓.๕ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น


๔. เหตุผลอื่น (เหตุผลของผู้รักษาศีลข้อ ๑)
ชีวิตเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่มนุษย์และสัตว์มีอยู่ และสิ่งที่มนุษย์และสัตว์ทุกรูป ทุกนามหวงแหนที่สุดก็คือชีวิตของตน ดังนั้น การกระทำผิดต่อสัตว์ ไม่มีสิ่งใดร้ายแรงยิ่งกว่าการทำลายชีวิตของเขาเพียงแต่เรางดฆ่าสัตว์เสียอย่างเดียว ก็ชื่อว่าเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต สัตว์ทั้งโลกและให้ความปลอดภัยแก่บรรดาบุตรหลานและบริวารของสัตว์นั้นด้วย
การประพฤติตนเป็นคนโหดร้าย ละเมิดศีลข้อนี้ ชื่อว่าเป็นการทำลายมนุษยธรรมในตัวเราเอง ทั้งเป็นการทำลายสังคมและประเทศชาติของเราด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น