ลงทุนกับ myinvestmentarea

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

p11-14 ศีลวัตร

ศีลวัตร
บางทีอาจจะสงสัยกันว่า ที่ว่า การรักษาศีล เป็นการรักษาปรกติ อยู่ในปรกติเดิม แต่เหตุไฉนศีล ๘ ศีล ๑๐ จึงห้ามในสิ่งที่เป็นปรกติอยู่แล้ว เช่น ห้ามเสพเมถุน และห้ามรับประทานอาหารเย็น เพราะปรกติของมนุษย์ต้องเสพกาม และต้องกินอาหาร จะไม่ค้านกับที่อธิบายมาแล้วหรือ ?
ขอชี้แจงว่า ศีล ที่แปลว่ารักษาปรกติ นั้น มุ่งถึงศีล ๕ โดยตรงเท่านั้น ส่วนศีลชั้นสูง สูงกว่าศีล ๕ ขึ้นไป มีลักษณะและความมุ่งหมายต่างจากศีลห้า เข้าลักษณะเป็น “วัตร” นักศึกษาคงจะเคยได้ยินคำว่า “ศีลวัตร” หรือ “ศีลพรต” หรือคำว่า “บำเพ็ญพรต” คำว่า พรต กับคำว่า วัตร เป็นคำเดียวกัน หมายถึงข้อปฏิบัติเพื่อฝึกฝนตนเอง ให้สามารถถอนใจออกจากกามารมณ์ได้ทีละน้อย ๆ เป็นทางนำไปสู่การละกิเลสได้เด็ดขาดต่อไป ข้อปฏิบัติในขั้นวัตร เป็นการฝืนปรกติของคนนั้นถูกแล้ว ยิ่งวัตรชั้นสูง ชั้นพระภิกษุ ยิ่งฝืนปรกติเอามากทีเดียว
ผลการรักษาศีล
ผลของการรักษาศีล เราจะแยกพิจารณาเป็น ๓ ลักษณะคือ
๑. ผลทางส่วนตัว การรักษาศีล มีความมุ่งหมายปรากฏชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการเว้น จากการกระทำที่ไม่ดี ทั้งนี้ หมายความว่า การรักษาศีล เป็นการป้องกันตัวเราไว้ไม่ให้เสื่อมเสียลงไป ข้อนี้เป็นเหตุผลตรงตัว เมื่อท่านศึกษารายละเอียดของศีลแต่ละข้อแล้ว ยิ่งจะเห็นได้ชัดว่า การรักษาศีล เป็นการป้องกันตัวมิให้เสื่อมเสียอย่างดียิ่ง เป็นการรักษาพื้นฐานของชีวิตเพื่อความเจริญแก่ส่วนตน โดยเฉพาะ และมีผลต่อสังคมโดยรวมอีกต่างหาก ซึ่งในที่นี้จะได้แสดงถึงพื้น(ฐาน) ของคนและส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องต่อไปดังนี้
พื้นของคน
การรักษาศีล เป็นการปรับพื้นตัวของผู้รักษาศีลนั้นเองให้เป็นคนมีพื้นดี เหมาะที่จะสร้างความดีความเจริญแก่คนส่วนรวมต่อไป
พื้น เป็นสิ่งสำคัญมาก แต่คนไม่ค่อยสนใจ การจะทำอะไรทุกอย่าง ต้องพิจารณาถึง พื้นเดิมของสิ่งนั้นก่อน ต้องทำพื้นให้ดี สิ่งที่ทำนั้นจึงจะเด่นดีขึ้น อย่างเวลาเขียนรูป ก่อนที่จะวาดรูป ลงไป ผู้เขียนต้องลงสีพื้นก่อน จะให้พื้นเป็นสีอะไร ต้องเลือกให้เหมาะ ๆ แล้วก็ลงสีพื้น ถ้าพื้นไม่เด่น รูปก็ไม่เด่น ถึงการเขียนหนังสือก็เหมือนกัน ต้องใช้พื้นกระดาษที่เขียนได้สะอาดเรียบร้อยจึงจะดี ถึงคน ผู้มีลายมือดี ถ้าเขียนลงบนพื้นเลอะเทอะเปรอะเปื้อน คุณค่าของหนังสือก็ดีไม่ถึงขนาด ถนนลาดยาง หรือถนนคอนกรีตที่เราสัญจรไปมาอยู่นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำ นายช่างต้องลงพื้นให้ดีเสียก่อน ถ้าพื้นไม่ดี ถ้าทำกันสักแต่ว่าสุกเอาเผากิน ไม่ช้าก็ทรุด ตึกรามใหญ่ ๆ โต ๆ ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปก็เหมือนกัน พื้นนั้นสำคัญมาก ต้องตอกเสาเข็มลงรากให้แข็งแรง ไม่เช่นนั้นจะทรุด และถ้าลงได้ทรุดแล้ว จะซ่อมยากลำบากลำบนจริง ๆ ให้ฝาหรือหลังคารั่วเสียอีก ดูเหมือนจะดีกว่าพื้นทรุด เพราะซ่อมง่ายกว่า ลงทุนน้อยกว่า
คนเราก็มีลักษณะเหมือนถนนหนทาง หรืออาคารบ้านเรือน ดังกล่าวแล้ว ถ้าพื้นดี ก็ดี ถ้าพื้นเสีย ก็เสียหาย คนพื้นดี ทำอะไรก็ดีขึ้น ไม่ว่าจะเล่าเรียน หรือเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เป็นพ่อค้า ชาวนา ชาวสวน จนกระทั่งบวชเป็นพระสงฆ์ ก็มีความเจริญก้าวหน้า ที่เรียกว่าทำขึ้น ถ้าได้พื้นดีแล้ว จะดีจริง ๆ จึงกล่าวได้ว่าโชคลาภในชีวิตอะไร ๆ ก็ดูจะสู้เป็นคนที่มีพื้นดีไม่ได้ และถ้าว่าข้างอาภัพ คนที่อาภัพที่สุด ก็คือคนที่มีพื้นเสีย ทำอะไรไม่ดีขึ้น
วิธีสังเกตพื้นคน
การจะดูพื้นว่าดีหรือไม่ดี เป็นการที่ยากสักหน่อย เพราะเป็นของที่จมอยู่ข้างล่าง หรือแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง เหมือนพื้นรากของโบสถ์ วิหาร ก็จมอยู่ในดิน ไม่ได้ขึ้นมาลอยหน้าอวดใคร ๆ เหมือนช่อฟ้า ใบระกา แต่ถึงจะดูยาก เราก็ต้องพยายาม ต้องหัดดูให้เป็น
วิธีดูพื้นของสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีที่สังเกต คือ สังเกตส่วนที่ปรากฏออกมาให้เห็นนั่นเอง เช่นจะดูพื้นถนนว่าดีหรือไม่ดี ก็ดูหลุมบ่อ ดูพื้นตึก ก็ให้ดูรอยร้าว เช่น ถ้าเราเห็นตึกหลังใดมีรอยร้าวตามฝาผนังเป็นทาง ๆ เราก็สันนิษฐานได้ว่า รากหรือพื้นตึกหลังนั้นไม่ดี
รอยร้าวทั้งห้า
การดูพื้นคน ก็ให้ดูรอยร้าวเหมือนกัน อาการที่เป็นรอยร้าวของคนที่สำคัญมี ๕ อย่าง ใช้คำเรียกอย่างสามัญได้ ดังนี้
๑. โหดร้าย
๒. มือไว
๓. ใจเร็ว
๔. ขี้ปด
๕. หมดสติ
ถ้าใครมีรอยร้าวทั้ง ๕ อย่างนี้ปรากฏออกมา ให้พึงรู้เถอะว่า ผู้นั้น เป็นคนพื้นเสีย
อาคารสถานที่ที่พื้นไม่แข็งแรง ถ้าปล่อยไว้เป็นที่ว่างเปล่า เพียงแต่ทรงตัวของมันอยู่บางทีก็อยู่ได้ คือ ทรงรูปร่างอยู่ได้ไม่ทรุดไม่พัง แต่เวลาใช้การ เช่นมีคนขึ้นไปอยู่ หรือนำสิ่งของขึ้นไปเก็บ อาคารจะทนไม่ไหว ประเดี๋ยวก็ทรุด พลาดท่าพังครืนทั้งหลัง เคยมีตัวอย่างมาแล้ว ผู้ที่พื้นเสียก็เหมือนกัน ลำพังเขาเองก็อยู่ได้ แต่พอมีหน้าที่ต้องรองรับเข้า ก็ทนไม่ไหว


การรักษาศีล ๕ เป็นเรื่องของการทำพื้นตัวโดยตรง พื้นตึก นายช่างสร้างด้วยไม้ ด้วยหิน
ปูน ทราย และเหล็ก แต่พื้นคน ต้องสร้างด้วยศีล ลงศีลห้าเป็นพื้นไว้เสียแล้ว รอยร้าวทั้งห้าจะไม่ปรากฏ
๒. ผลทางสังคม การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า สังคม ตั้งแต่ส่วนน้อยจนกระทั่งถึงส่วนใหญ่ จะมีความสุขความเจริญได้ ต้องมีความสงบ (สันติ) เป็นพื้นฐาน ถ้าความสงบมีสุขอื่นก็มีขึ้นได้ ถ้าไม่มีความสงบแล้ว สุขอื่นก็พังทลาย ดังนั้น ความสงบ หรือสันติ จึงเป็นสิ่งที่สังคมต้องการอย่างยิ่ง
ก็ความสงบของสังคมนั้น ย่อมมาจากคนในสังคมแต่ละคนนั่นเองเป็นผู้สงบ ถ้าคนในสังคมเป็นผู้ไม่สงบแล้ว ความสงบของสังคมจะมีไม่ได้เลย
คนรักษาศีล ก็เป็นคนทำความสงบแก่ตนเอง คือ ทำตนเองให้สงบ และการทำตนเองให้สงบ ก็เท่ากับสร้างความสงบให้แก่สังคมโดยตรงนั่นเอง
๓. ผลทางประเทศชาติ การดำรงรักษาประเทศชาติ มีภาระสำคัญยิ่งอยู่ ๒ ประการ คือ ๓.๑ การบำรุงให้ประเทศชาติเจริญ เช่น การเสริมสร้างการศึกษา การบำบัดทุกข์บำรุงสุข การส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น และ
๓.๒ การรักษา คือป้องกันการรุกรานจากศัตรู
ทั้ง ๒ ประการนี้รวมเรียกว่า บำรุงรักษาประเทศชาติ ได้มีผู้ข้องใจอยู่ว่า การที่คนรักษาศีล ทำให้การบำรุงรักษาประเทศชาติไม่ได้ผลเต็มที่ ที่คิดดังนี้เป็นเพราะคิดแง่เดียว คือนึกถึงตรงที่ประหัตประหารข้าศึกเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วการบำรุงรักษาชาติ ยังมีอีกร้อยทางพันทางซึ่งมีความสงบเป็นพื้นฐาน และเราได้ความสงบนั้นก็จากบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นผู้มีศีลดังกล่าวแล้ว ลองนึกวาดภาพดูซิว่า ถ้าคนทั้งประเทศทิ้งศีลกันหมด ฆ่าฟันกันอยู่ทั่วไป ลักปล้นฉ้อโกงกันดาษดื่น ล่วงเกินบุตรภรรยากันอย่างไม่มียางอาย โกหกปลิ้นปล้อน และดื่มสุรายาเมา สูบฝิ่นกินกัญชาทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร อย่าว่าแต่จะปราบศัตรูภายนอกเลย แม้แต่จะปราบโจรภายใน ก็ไม่ไหวแล้ว ถึงแม้ยามสงคราม ที่ทหารอุตส่าห์ทิ้งครอบครัวไปรบ ก็เพราะเชื่อแน่ว่าเพื่อนร่วมชาติที่อยู่แนวหลัง จะเป็นคนมีศีล ไม่ข่มเหงครอบครัวเขา และเชื่ออีกว่าครอบครัวเขาเองก็มีศีลมีสัตย์ต่อเขาด้วย
บรรพบุรุษของเรา รักษาประเทศชาติให้อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะชาวไทย เราพากันรักษาศีล คือ ไม่ทำลายล้างผลาญกันทั้งทางชีวิตร่างกาย ทางทรัพย์ และทางอื่น ๆ เราไม่ทำลายกันและกัน เราควบคุมกันเป็นปึกแผ่น ดินแดนไทยก็เป็นถิ่นที่สงบน่าอยู่ บางคราว มีเหตุร้ายเกิดขึ้น เพราะคนไม่มีศีล เราชาวไทยต้องทำการปราบปรามเหตุการณ์ร้ายนั้น ให้สงบราบคาบอย่างเด็ดขาด การสู้รบนั้น เป็นวิธีสุดท้ายที่เราทำด้วยความรักประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ของเรา เราต้องการให้ประชาชนพลเมืองมีความสงบสุขเท่านั้น หาใช่กระทำด้วยความเหี้ยมโหดทารุณในจิตใจไม่ เรารักเย็น เราเกลียดร้อน แต่เมื่อไฟไหม้ขึ้นแล้ว เราก็ต้องวิ่งเข้าไปหาไฟ เพื่อจะดับไฟนั้น แม้การเข้าไปดับไฟตัวจะร้อนแทบไหม้ เราก็ต้องยอมทน เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนใหญ่
การรักษาศีล จึงไม่ได้ทำให้กำลังป้องกันรักษาประเทศชาติของเราอ่อนลง บรรพบุรุษของเรา ท่านได้นำประเทศชาติลุล่วงมาจนถึงตัวเราทุกวันนี้ ท่านก็รักษาศีล คนรักษาศีลเป็นคนอ่อน ก็จริง แต่เป็นการอ่อนโยน ไม่ใช่อ่อนแอ ความอ่อนโยนเป็นเกราะป้องกันตัวดีที่สุด เพราะไม่ทำให้คนอื่นมาเป็นศัตรู การที่เราชาวไทยยึดมั่นในศีล คือชอบสงบเรียบร้อย จึงเป็นการสร้างกำแพงเหล็กกล้าป้องกันประเทศชาติของเราด้วย

วิรัติ
ศีล จะมีได้ก็ด้วยการตั้งเจตนางดเว้นจากความผิดนั้น ๆ ถ้าไม่มีเจตนาจะงดเว้น แม้มิได้ทำการละเมิด เช่นผู้ร้ายที่ถูกจับขังไว้ ขณะที่อยู่ในห้องขังนั้น ไม่ได้ฆ่าคน ไม่ลักของของใคร ก็ไม่นับว่า มีศีล (เว้นแต่เขาจะมีเจตนางดเว้น) เจตนางดเว้นจากการทำผิดศีล เรียกว่า “วิรัติ” มี ๓ อย่าง คือ
๑. สมาทานวิรัติ เจตนางดเว้นด้วยการสมาทานศีลไว้ล่วงหน้า
๒. สัมปัตตวิรัติ เจตนางดเว้นเมื่อเผชิญกับเหตุที่จะทำให้ผิดศีล
๓. สมุจเฉทวิรัติ เจตนางดเว้นเด็ดขาดของท่านผู้สิ้นกิเลสแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น