ลงทุนกับ myinvestmentarea

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

p3-9 พุทธจักร

พุทธจักร
ภายในสังฆมณฑล จึงเสมือนอาณาจักรหนึ่งต่างหากจากราชอาณาจักร เรียกว่า พุทธจักร เพราะมีพระวินัย ระเบียบ ข้อบังคับ กติกาและอาณัติสงฆ์เป็นเครื่องควบคุมภิกษุสงฆ์อีก
ต่างหากจากกฎหมายของบ้านเมือง พระสังฆราชาธิบดีมีอำนาจควบคุมคณะสงฆ์ตลอดมา เริ่มตั้งแต่
สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน
นิกายสงฆ์
เป็นธรรมดาของศาสนาทุกนิกาย เมื่อพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว และมีอายุยืนนานปี
ศาสนิกแบ่งเป็นหลายพวกหลายเหล่า เพราะมีการตีความหมายของคำสอนไม่ตรงกัน พระพุทธศาสนา
ก็เช่นเดียวกัน พระสงฆ์ผู้เป็นคณะบริหารศาสนามีความเห็นเกี่ยวกับพระธรรมวินัยไม่ตรงกัน มีจารีตขนบประเพณีผิดแผกกัน เพราะต่างมั่นใจในสิ่งที่ตนปฏิบัติว่าถูกต้อง ในชั้นแรกก็มีคนจำนวนน้อย แต่นานเข้าก็มีผู้เห็นตามมากขึ้น จนรวมเป็นคณะเรียกว่า นิกาย นิกายใหญ่ของพระพุทธศาสนาคือ เถรวาท และ มหายาน สำหรับคณะสงฆ์ไทยเป็นนิกายเถรวาท ต่อมาได้แบ่งย่อยลงไปอีกเป็น ๒ นิกาย คือ
๑. มหานิกาย เป็นนิกายเดิม
๒. ธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ใน พ.ศ.๒๓๗๖ โดยกำหนดด้วยการฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมาใหม่ของวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ว่าเป็นการตั้งคณะธรรมยุต
การแยกนิกายของคณะสงฆ์ไทย เป็นปัญหาเรื่องการปฏิบัติวินัยของสงฆ์อย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับธรรมะ จึงไม่กระทบกระเทือนถึงการนับถือของประชาชนแต่อย่างใด เพราะพระสงฆ์ ทั้ง ๒ นิกาย มุ่งปฏิบัติให้ถูกตามพระธรรมวินัยและต่างก็ได้ปกครองรักษาพระพุทธศาสนาเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ควรที่ฆราวาสจะให้การเคารพ สนับสนุนและทะนุบำรุง ทั้ง ๒ ฝ่าย ควบกันไป และไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะกีดกันการปฏิบัติของสงฆ์นิกายใดนิกายหนึ่ง
ภารกิจของคณะสงฆ์
ภารกิจ หรือหน้าที่ที่พระภิกษุสามเณรต้องปฏิบัติ เรียกว่าธุระ ธุระที่สำคัญมี ๒ อย่าง คือ
๑. การศึกษาพระปริยัติธรรม เรียกว่า คันถธุระ
๒. การปฏิบัติตามพระพุทธวจนะ เพื่อบรรลุผลเบื้องสูง เรียกว่า วิปัสสนาธุระ
คณะสงฆ์ไทยมีทั้งฝ่ายคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ซึ่งรัฐบาลและประชาชนให้ การสนับสนุนทั้ง ๒ ฝ่าย
การศึกษาพระปริยัติธรรมแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. แผนกนักธรรม
๒. แผนกบาลี
๓. มหาวิทยาลัยสงฆ์
บทบาทของวัดและพระสงฆ์ในอดีต
ในอดีตกาลประชาชนชาวไทยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระพุทธ-ศาสนาได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตและสังคมไทยในทุก ๆ ด้าน ทั้งในการดำเนินชีวิต การศึกษา ภาษา ประเพณีวัฒนธรรม ทุกอย่างล้วนมีความเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
บทบาทของวัดและพระสงฆ์ในอดีตนั้นไม่สามารถจะแยกออกจากสังคมไทยได้ ดังที่ท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า “ วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมไทยในทุกรูปแบบ ” เช่น
๑. วัดเป็นสถานศึกษาสำหรับชาวบ้านส่งบุตรหลานมาอยู่รับใช้พระ รับการศึกษาฝึกฝนอบรมทางศีลธรรมและเล่าเรียนวิชาต่าง ๆ ที่มีสอนในสมัยนั้น
๒. วัดเป็นสถานสงเคราะห์ที่บุตรหลานชาวบ้านที่ยากจนได้มาอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่และ
ศึกษาเล่าเรียนด้วย ตลอดถึงผู้ใหญ่ที่ยากจนได้มาอาศัยเลี้ยงชีพ
๓. วัดเป็นสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยตามภูมิรู้ของคนสมัยนั้น
๔. วัดเป็นที่พักของคนเดินทาง
๕. วัดเป็นสโมสร ที่ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์ พักผ่อนหย่อนใจ หาความรู้เพิ่มเติม
๖. วัดเป็นสถานบันเทิงที่จัดงานเทศกาล และมหรสพต่าง ๆ สำหรับชาวบ้านทั้งหมด
๗. วัดเป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาชีวิตครอบครัวและความทุกข์ต่าง ๆ
๘. วัดเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมที่รวมศิลปะต่าง ๆ ของชาติ ตลอดจนเป็นเหมือน
พิพิธภัณฑ์
๙. วัดเป็นคลังพัสดุสำหรับเก็บของใช้ต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกันเมื่อมีงานวัดหรือยืมไปใช้เมื่อคราวมีงาน
๑๐. วัดเป็นศูนย์กลางบริหารหรือปกครองที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะเรียกลูกบ้านมา ประชุมกัน บอกแจ้งกิจกรรมต่าง ๆ (ในยามสงครามอาจใช้เป็นที่ชุมนุมทหารด้วย)
๑๑. วัดเป็นที่ประกอบพิธีกรรมหรือใช้บริการด้านพิธีกรรมอันเป็นเครื่องผูกพันชีวิต ของคนทุกคนในระยะเวลาต่าง ๆ กันของชีวิต
ปัจจุบันบทบาทของวัด และพระสงฆ์ที่มีต่อสังคมลดน้อยลงไปทุกวัน ทั้งนี้เพราะเหตุต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายใน
บทบาทของวัดและพระสงฆ์ในปัจจุบัน
เหตุภายนอก เกิดจากความเจริญของโลกปัจจุบันที่มุ่งเน้นความเจริญทางวัตถุมากกว่า
จิตใจ คนในสังคมต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทางวัตถุจนลืมพระพุทธศาสนา
เหตุภายใน ได้แก่ บทบาทของวัดและพระสงฆ์ไม่มีการพัฒนาให้ทันกับความเจริญ ของโลกทั้งในด้านการศึกษา การอบรมสั่งสอนความรู้ทางศาสนา และการประพฤติปฏิบัติบางอย่างที่ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาและเบื่อหน่ายต่อพระพุทธศาสนา
แนวทางแก้ไข
๑. แก้เงื่อนไข
๒. ให้การศึกษา
๓. พัฒนาสร้างสรรค์
๑. แก้เงื่อนไข
การปรับปรุงแก้ไขสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญรุ่งเรืองของ
พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร เช่น การดำเนินการปราบปรามแหล่งอบายมุขอย่างจริงจังตลอดจนผู้ประพฤตินอกลู่นอกทางในวงพระพุทธศาสนาให้หมดไป เพื่อให้สถาบันของพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของมหาชน
๒. ให้การศึกษา
คือสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตรการศึกษาของชาติ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนของ
พระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง



๓. พัฒนาสร้างสรรค์
คือสร้างสรรค์สังคมไทยให้มีสภาพแวดล้อมเกื้อกูลแก่การศึกษาและการปฏิบัติตาม หลักธรรมของพระพุทธศาสนา ทั้งในส่วนบุคคลและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางศาสนจักรจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาด้านจิตใจให้มากกว่าด้านวัตถุ เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองให้ได้
ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย
สถาบันหลักของสังคมไทยมีอยู่ ๓ สถาบัน คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา (อันหมายถึงพระพุทธศาสนา) และสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งสามสถาบันนี้ต่างพึ่งพาอาศัยกัน เกื้อหนุนค้ำจุนกันและดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดมา เราสามารถกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ของชาติไทย ก็เป็นประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาด้วย
สีทั้งสามของธงไตรรงค์ ซึ่งเป็นธงชาติไทย ก็เป็นสัญลักษณ์ยืนยันสถาบันหลักของสังคมไทย กล่าวคือ สีแดง หมายถึง ชาติ สีขาว หมายถึง พระพุทธศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึงพระมหากษัตริย์ เท่ากับเป็นการยืนยันว่า ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักสำคัญของประเทศ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปมิได้
เหตุผลที่ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักอย่างหนึ่งของสังคมไทยก็คือ
๑. พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันคู่กับชาติไทย พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณฑูต คือพระโสณะ และ
พระอุตตระ นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแถบจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน ตลอดจนจวบปัจจุบันพระพุทธศาสนาก็คงดำรงอยู่เคียงคู่กับชาติไทยมาโดยตลอด
๒. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ พระมหากษัตริย์ไทยทุกยุคทุกสมัยทรงเป็นพุทธมามกะโดยพระราชประเพณี และต่อมาได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญการปกครองด้วย พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ก่อนขึ้นครองราชย์ มีพระราชประเพณีให้ออกผนวชชั่วคราว เพื่อศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และนำหลักธรรมนั้น ๆ มาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ ในกรณีที่ไม่สามารถออกผนวชก่อนขึ้นครองราชย์ ก็ต้องออกผนวชหลังจากนั้น (ดังกรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เป็นต้น พระองค์ได้เสด็จออกผนวช เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยทรงมีพระฉายาว่า “ภูมิพโล ภิกขุ”)
๓. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงให้ความสำคัญใน
การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เช่น
ทรงสร้างวัด ปฏิสังขรณ์วัด และปูชนียสถานต่าง ๆ อาทิ รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้าง
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม), รัชกาลที่ ๒ ทรงบูรณะวัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดสมอราย (วัดราชาธิวาส), รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างวัดราชนัดดาราม วัดเฉลิมพระเกียรติ และทรงบูรณะวัดต่าง ๆ อีกมากมาย รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างวัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม วัดมกุฏกษัตริยาราม รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้าง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชบพิธ วัดเทพศิรินทราวาส รัชกาลต่อ ๆ มาก็ทรงเอาพระทัยใส่ต่อการพระพุทธศาสนาทุกพระองค์ จะเห็นได้ว่าพุทธสถานตลอดจนพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นเพราะพระมหากษัตริย์ไทยทรงสร้างไว้ให้เป็นมรดกของชาติเกือบทั้งสิ้น
ทรงอุปถัมป์การศึกษาพระพุทธศาสนา คือ ทรงสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม (การเรียนของพระภิกษุสามเณร) พระมหากษัตริย์บางพระองค์ทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีและพระไตรปิฎก ทรงจัดให้มีการบอกหนังสือ และการสอบไล่ในพระบรมมหาราชวัง โดยพระมหากษัตริย์ประทับนั่งเป็นสักขีพยาน จนทำให้มีการเรียกขานการสอบไล่ของพระภิกษุสามเณรว่า “สอบสนามหลวง” มาจนบัดนี้
ทรงส่งเสริมการปฏิบัติ คือ ทรงอุปถัมป์พระที่เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระในคราว
ขาดแคลนถึงกับต้องแสวงหาพระนักปฏิบัติมาสืบต่อพระศาสนาก็มี ดังกรณีสมเด็จพระเจ้าตากสิน-มหาราช เสด็จไปอาราธนาพระอาจารย์ศรีขึ้นมาจากเมืองนครศรีธรรมราช แล้วสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เพื่อฟื้นฟูบูรณะพระพุทธศาสนาให้กลับฟื้นคืนสู่ความเจริญรุ่งเรืองเหมือนดังเดิม เป็นต้น
ทรงยกย่องพระสงฆ์คือ ทรงยกย่องพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญในพระปริยัติ และด้านการปฏิบัติ ให้ดำรงสมณศักดิ์ตามความสามารถ และตามความเหมาะสม
ทรงแก้ไขปัญหาวิกฤติของพระพุทธศาสนา ในคราวพระพุทธศาสนาประสบภาวะวิกฤติ พระมหากษัตริย์ทรงชำระสังฆมณฑลให้บริสุทธิ์ ดังกรณีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงชำระสังฆมณฑลเมืองเหนือครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๓ เป็นต้น
ทรงสนับสนุนการสังคายนา ดังในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์ได้ทรงสนับสนุนและทรงอุปถัมภ์การสังคายนา คือการชำระพระไตรปิฎกให้คงความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนา
ทรงวางพระองค์เป็นแบบอย่างของชาวพุทธที่ดี พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์
ทรงดำรงอยู่ในศีล ทรงทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และมีพระราชจรรยานุวัตรเป็นแบบอย่างที่ดี
แก่พสกนิกร
๔. รัฐบาลไทยส่งเสริมสนับสนุนพระพุทธศาสนา หลังการปกครองระบอบ-
สมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พระราชอำนาจและพระราชภารกิจในการอุปถัมภ์
บำรุงพระพุทธศาสนา ก็ถูกมอบหมายให้กับรัฐบาล เพื่อสนองงานดังกล่าว เพราะฉะนั้นรัฐบาลไทยจึงมีหน้าที่โดยตรงที่จะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาทั้งในด้านการศึกษา และการปฏิบัติพระศาสนา โดยผ่านทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น