ลงทุนกับ myinvestmentarea

วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

p9-11 หลักการครองตนเป็นคนดี มีความสุข

หลักการครองตนเป็นคนดี มีความสุข
เบญจศีล เบญจธรรม
เบญจศีล หมายถึง ข้อปฏิบัติสำหรับละเว้นการทำความชั่ว ๕ ประการ เพราะคนที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความดีอย่างสมบูรณ์นั้น นอกจากจะละเว้นการทำความชั่วแล้วยังต้องกระทำคุณความดีด้วย ศีลธรรม คือข้อปฏิบัติเพื่อฝึกหัดกล่อมเกลานิสัยจิตใจของคนให้ประณีต มีมากมายหลายประการ แต่เมื่อกล่าวถึงศีลธรรมพื้นฐานที่สมควรจะปลูกฝังให้เกิดมีก่อนหลักธรรมอื่น ๆ มี ๒ ประการคือ เบญจศีลและเบญจธรรม ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่คนควรยึดถือทำตาม เพื่อความสงบสุขของชีวิตและสังคมโดยส่วนรวม
เบญจศีล
หลักแห่งพระพุทธโอวาทคือหลักการที่เราจะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา มี ๓ ข้อ ในหลักทั้ง ๓ ข้อนี้ ถ้าพิจารณาถึงงานที่ทำก็มีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ
๑. เว้นจากการทำคามชั่ว
๒. บำเพ็ญคุณความดี
ความชั่วเป็นข้อควรเว้นเป็นเบื้องต้น คือ การทำผิดศีลห้า ส่วนคุณความดีที่ควรบำเพ็ญ คือธรรม ในที่นี้ท่านแสดงไว้ ๕ ข้อ คู่กับศีล ศีล ๕ เรียกว่า เบญจศีล และธรรม ๕ เรียกว่า เบญจธรรม เบญจศีล หรือ ศีล ๕ ประการคือ
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ คือ ละเว้นการฆ่า การสังหาร ไม่ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย ทั้งนี้รวมถึงการไม่ทำร้ายร่างกาย การทรมาน การใช้แรงงานของคน และสัตว์จนเกินกำลังความสามารถด้วย
๒. อทินฺนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ คือ ละเว้นการลักขโมย เบียดเบียนแย่งชิง ไม่ประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน ทั้งนี้รวมถึงการไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้มาเป็นของตนด้วย ไม่ว่าจะเป็นโดยวิธีการหลอกลวง ฉ้อโกง เบียดบัง ยักยอก ตลอดจนการทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบ
๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการผิดประเวณี คือ ละเว้นประพฤติผิดในกาม ไม่ประทุษร้ายต่อของรักของหวงแหน อันเป็นการทำลายเกียรติภูมิและจิตใจ ตลอดจนทำวงศ์ตระกูลเขาให้สับสน หมายถึง การไม่ไปยุ่งเกี่ยวทางเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายที่มีคู่ครองแล้ว ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และผู้ที่กฎหมายคุ้มครอง
๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการกล่าวเท็จ คือ ละเว้นจากการพูดเท็จโกหกหลอกลวงประทุษร้ายเขาหรือประโยชน์สุขของเขาด้วยวาจา หมายถึง การไม่มีเจตนาที่จะบิดเบือนความจริงทุกอย่าง เช่น ไม่พูดเล่นสำนวนให้คนเข้าใจผิด ไม่อวดอ้างตนเอง ไม่พูดเกินความจริง หรือไม่พูดน้อยกว่าที่เป็นจริง เป็นต้น
๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือไม่เสพเครื่องดองของเมาสิ่งเสพติด อันเป็นเหตุให้เกิดความประมาทมัวเมา ก่อความฉิบหาย เสียหายผิดพลาดเพราะขาดสติ หมายถึง ละเว้นการดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้ตนเองครองสติไม่อยู่ เช่น เหล้า เบียร์ น้ำตาลเมา และรวมถึงละเว้นการเสพสิ่งเสพติดทั้งหลายด้วย ไม่ว่าจะเป็น ยาบ้า บุหรี่ ฝิ่น กัญชา เฮโรอีน เป็นต้น
ความหมายของศีล
คำว่า ศีล แปลได้มากความหมาย ๆ หนึ่งแปลว่า ปรกติ ที่ “รักษาศีล” ก็คือตั้งใจรักษาปรกติของตนนั่นเอง ต้องทำความเข้าใจเรื่องปรกติก่อน แล้วจะเข้าใจเรื่องรักษาศีลได้ดีขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีความปรกติในตนประจำอยู่ทั้งนั้น ดังที่จะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
ดวงอาทิตย์ ขึ้นทางทิศตะวันออกเวลาเช้า ส่องแสงสว่างอยู่ตลอดวัน แล้วหายลับไป ทางทิศตะวันตกในเวลาเย็น การขึ้น การส่องแสง และการหายลับไปอย่างนี้ เป็นปรกติของดวงอาทิตย์ เพราะดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างนี้อยู่ทุกวี่ทุกวัน ถ้าดวงอาทิตย์เกิดมีอันเป็นไปอย่างอื่นนอกจากนี้ ก็เรียกว่าผิดปรกติ เช่น กลางวันเคยส่องแสงกลับไม่ส่องแสง อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า ผิดปรกติ
การรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อ นั้น การรักษาปรกติของตนนั่นเอง ลองยกมาพิจารณาดูว่า ข้อห้ามทั้ง ๕ ข้อ ตรงกันกับปรกติของคนใช่หรือไม่ ขอให้พิจารณาทีละข้อดังต่อไปนี้
๑. การฆ่ากับการไม่ฆ่า อย่างไหนเป็นปรกติของคน แน่นอน ปรกติของคนต้องไม่ ฆ่ากัน อย่างที่เราอยู่ในลักษณะนี้แหละ ไม่ใช่ว่าคนเราจะต้องฆ่ากันอยู่เรื่อย ถ้าการฆ่ากันเป็นปรกติ ของคน ตัวเราเองก็จะถูกคนอื่นฆ่าไปนานแล้ว เท่านี้ก็เห็นได้แล้วว่า ปรกติของคนต้องไม่ฆ่ากัน ส่วนการฆ่าเป็นการทำผิดปรกติ โดยนัยนี้ การรักษาศีลข้อที่ ๑ คือ ตั้งใจไม่ฆ่า ก็คือตั้งใจอยู่ในปรกติเดิมนั่นเอง
๒. การขโมยกับการไม่ขโมย อย่างไหนเป็นปรกติของคน การไม่ขโมยนั่นแหละ เป็นปรกติ ปรกติของคนต้องทำมาหากิน ไม่ใช่แย่งกันกินโกงกันกิน ไม่เหมือนไก่ ไก่นั้น ถ้าหากินด้วยกันตั้งแต่สองตัวขึ้นไป มันต้องแย่งกันกิน ตัวหนึ่งคุ้ยดินหาอาหาร อีกตัวหนึ่งขโมยจิกกิน ประเดี๋ยวเดียว ตัวคุ้ยก็ตีตัวขโมย ปรกติของไก่เป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนปรกติของคน เราเป็นคนจะต้องอยู่ในปรกติของคน ถ้าใครคิดแย่งกันกิน ขโมยกันกิน ก็ผิดปรกติของคน แต่ไพล่ไปอยู่ในปรกติของไก่ การรักษาศีลข้อที่ ๒ คือ ตั้งใจไม่ขโมยของของคนอื่น ที่แท้ ก็คืออยู่ในปรกติเดิมของตนนั่นเอง
๓. เกี่ยวกับประเวณี ปรกติของคนย่อมหวงแหนประเวณี และเห็นอกเห็นใจคนอื่นในเรื่องนี้ ไม่เหมือนพวกเดรัจฉานที่ส้องเสพสำส่อน เพราะปรกติของเดรัจฉานเป็นอย่างนั้น เป็นความจริงใช่หรือไม่ มนุษย์เราก็จึงต้องอยู่ในปรกติของคน คือไม่ล่วงเกินประเวณี การรักษาศีลข้อที่ ๓ จึงเป็น การตั้งอยู่ในปรกติของตนอีกเหมือนกัน
๔. เกี่ยวกับการกล่าวเจรจา ตามปรกติ เรากล่าวความจริงกันเป็นพื้น ไม่ใช่โกหกกันเรื่อยไป เพราะฉะนั้น การรักษาศีลข้อที่ ๔ คือ ตั้งใจงดเว้นการกล่าวคำเท็จ ที่แท้ ก็คืออยู่ในปรกติเดิมของตนนั่นเอง
๕. เกี่ยวกับการดื่มสุรา คนเราไม่ใช่ว่าจะต้องดื่มสุราอยู่เรื่อยอย่างนั้นก็หาไม่ เพราะแม้คนที่ติดสุราขนาดไหนก็คงทำไม่ได้ ใครขืนทำก็ตาย ปรกติของคนคือดื่มน้ำบริสุทธิ์ ไม่ใช่ดื่มสุรา ส่วนการดื่มสุรานั้น เป็นการทำผิดปรกติ ฉะนั้น การรักษาศีลข้อที่ ๕ คือเว้นจากการดื่มสุรา ก็เป็นการอยู่ในปรกติเดิมของตนอีกนั่นแหละ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น